เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช จ.นครราชสีมา ในเวทีการแข่งขัน TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE THAILAND CHAMPIONSHIP 2024 รอบชิงชนะเลิศระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่ากรมสุขภาพจิต ในฐานะเลขานุการโครงการ TO BE NUMBER ONE ได้ดำเนินงานสนองพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ ที่ทรงมีพระดำริให้พัฒนาเยาวชนโดยผ่านกิจกรรม เพราะทรงเห็นว่ากิจกรรมจะช่วยให้เยาวชนมีสังคมที่ดี ได้รับประสบการณ์ที่ดี มีโอกาสได้แสดงศักยภาพและเห็นคุณค่าในตนเอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันจิตใจ ในการดำเนินชีวิตในระยะยาว
TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของ“ แอคทีพเทนเม้นท์”(Activetainment) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นอกจากช่วยสร้างความแข็งแกร่ง แข็งแรงของร่างกายและช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีความสดชื่นแล้ว ยังช่วยให้ เด็กๆ มีความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจ มีการเติมเต็มสิ่งที่ทำให้เยาวชนสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้และคุณภาพนี้ก็คือไม่ว่าจะเป็นช่วงของเวลาการเรียนหนังสือ หรือการเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ จะทำให้พวกเขาสามารถใช้เวลาได้อย่างมีคุณภาพและมีคุณค่ามากที่สุด นี้คือหัวใจหลักของความสำเร็จที่โครงการ TO BE NUMBER ONE คาดหวัง
ด้านหม่อมหลวงยุพดี ศิริวรรณ เลขาธิการมูลนิธิ TO BE NUMBER ONE และที่ปรึกษาโครงการ TO BE NUMBER ONE กล่าวว่าการแข่งขันTO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE THAILAND CHAMPIONSHIP 2024 รอบชิงชนะเลิศระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 82 ทีม ผลการแข่งขันมีทีมที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศรวม 12 ทีมได้แก่ รุ่น Junior รางวัลที่1 ทีม Rookie BT โรงเรียนบ้านตูม สสจ.ศรีสะเกษ, รางวัลที่ 2 ทีม SWL Junior โรงเรียนอนุบาลเสาวลักษณ์ สสจ.บึงกาฬ รุ่น Pre-Teenage รางวัลที่ 1 ทีม Thossaporn thunder โรงเรียนทศพรวิทยา สสจ.บุรีรัมย์ , รางวัลที่ 2 ทีม Fubulous Junior ห้องสอนเต้นแก่งเลิงจาน โรงเรียนสอนดนตรี อบจ.มหาสารคาม สสจ.มหาสารคาม , รางวัลที่ 3 ทีม Big g โรงเรียนอนุบาลไพรบึง สสจ.ศรีสะเกษ รุ่น Teenage รางวัลที่ 1 ทีม SUPPLA-ReR โรงเรียนปะโคนชัยพิทยาคม สสจ.บุรีรัมย์ ,รางวัลที่ 2 ทีม REQUIRES โรงเรียนมุกดาหาร สสจ.มุกดาหาร, รางวัลที่ 3 ทีม Next happen โรงเรียนสตรีสิริเกศ สสจ.ศรีสะเกษ, อันดับที่ 4-7 ได้แก่ ทีม FUBULIOUS D CREW โรงพยาบาลมหาสารคาม สสจ.มหาสารคาม , ทีม Serephine สโมสรไลออนศรีนคร สสจ.อุบลราชธานี , ทีม THE SHEEP โรงพยาบาลมหาสารคาม สสจ.มหาสารคาม , ทีม Mixer Family โรงเรียนอำนาจเจริญ สสจ.อำนาจเจริญ และ ทีม Udon Friend Corner dance crew ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เทศบาลอุดรธานี สสจ.อุดรธานี
นายสมชาย นพรัตน์“ครูอู๊ด”ครูผู้คุม ทีม Rookie BT รุ่น Junior ,ทีม Big g รุ่น Pre-Teenage และทีม Next happen รุ่น Teenage เล่าว่าการแข่งขันในปีนี้การเตรียมทีม Rookie BT รุ่น Junior ซึ่งเป็นเด็กเล็กจะเน้นไปที่การทำสมาธิ ให้น้องๆฝึกท่อง 5 นับ 5 แล้วค่อยให้ฟังเพลง ให้น้องๆรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ทำ เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้น้องๆจดจำได้ง่ายขึ้น ในเวลาอันสั้นเป็นแบบ Play & Learn ส่วนธีมการเต้นใช้เป็นการโชว์พลังของนักรบตัวน้อย ทุกๆรุ่นที่ได้ส่งเข้าร่วมแข่งขันสิ่งที่ต้องการปลูกฝังคือการให้เด็กๆได้มาเจอกับประสบการณ์ในเวทีการเต้นของ TO BE NUMBER ONE เป็นการเปิดโลกให้กับเด็กๆ ซึ่งทุกคนในทีมตื่นเต้นมาก ที่ได้มาเจอทีมแข่งในรุ่นต่างๆ ทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ โดยส่วนตัวในฐานะครูผู้ฝึกสอน รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเด็กๆทุกคน ที่พวกเขาสามารถก้าวผ่านบททดสอบและทำได้ดีที่สุด ซึ่งผลการแข่งขันที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ เชื่อว่าจากความรู้สึกตอนแรกที่แค่ครูพามาเต้น มาถึงตอนนี้พวกเขาจะรู้สึกรักในการเต้นและมีความสุขมากๆกับสิ่งที่ทำ
นางสาวนิษฐกานต์ คำเพราะ “ออมสิน”วัย 18 ปี ทีม Next happen เล่าว่าการแข่งขันในปีนี้เน้นการเต้นที่แข็งแรง เข้มแข็ง มีความสนุก แสดงถึงความอดทน ไม่ย่อท้อ แม้ล้มก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ ครั้งนี้ใช้เวลาฝึกซ้อม 1 เดือนก่อนมาแข่ง โดยนำเอาประสบการณ์ ข้อผิดพลาด คำแนะนำของคณะกรรมการจากเวทีเต้นที่ได้ร่วมแข่งที่ผ่านมาไปปรับปรุงพัฒนาทีมเต้นของเราให้ดียิ่งขึ้น มองว่าการเต้นในโครงการ TO BE NUMBER ONE นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง การเป็นทีมเต้นของ TO BE NUMBER ONE ยังช่วยให้ทุกคนมีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ทำให้ได้เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนๆจากจังหวัดอื่นๆที่รักการเต้นเหมือนกับเรา อยากฝากบอกเพื่อนที่รักการเต้นทุกคนว่า ให้ทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องกังวล หรือกลัวการแสดงออก ถ้ารู้สึกว่าตนเองรักการเต้นก็ให้ทำออกมาเลย
ด.ช.ญาณาธิป ศิริพัฒน์ “ออโต้”วัย 14 ปีทีม SUPPLA-ReR เล่าว่าปีนี้ทีมได้ปรับเปลี่ยนสไตล์การเต้น เนื่องจากน้องๆในทีมโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น การออกแบบท่าเต้นเลยเลือกเป็นเพลงช้าแนว R&B ซึ่งจะเน้นท่าเต้นที่มีความชัดมากขึ้น รวมทั้งการแสดงอารมณ์ที่ชัดขึ้น เน้นการสื่อสารถึงคนดูผ่านทางร่างกาย ท่าเต้น อยากให้คนดูเข้าถึงอารมณ์โชว์ที่แสดง ในขณะที่นายนัฏฐชัย แจ่มแจ้ง “บูม” อีก1ในทีมเล่าว่าการที่เราปรับเปลี่ยนโชว์ในปีนี้มาเป็นเพลงช้า ทำให้เราต้องฝึกใหม่ ปรับจากการเต้นเพลงเร็ว มาเป็นเพลงช้า ทำให้ต้องฝึกใจให้เย็นลง เพื่อปรับจังหวะการเต้นให้สามารถเข้ากันได้ เน้นการฟังเพลงบ่อยๆ มองว่าการเข้าแข่งขันในเวที TO BE NUMBER ONE DANCERCISE ทำให้เราได้เพื่อน ทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนกันหมด จากที่เคยเป็นคนไม่ค่อยพูด ก็เริ่มรู้จักพูดคุยเข้าสังคมมากขึ้นและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเต้นระหว่างเพื่อนด้วยกัน
นางพลอยณิศา เกษมชัยฎทธิ์”แม่แมว”ผู้ปกครอง “น้องกิล” ทีม SUPPLA-ReR บอกว่ามองว่าการเต้นในโครงการ TO BE NUMBER ONE คือการให้โอกาสเด็กทุกคน จากที่เมื่อก่อนเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดอาจยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการเต้นแบบนี้มากนัก ซึ่ง “น้องกิล”ลูกชายก็ได้มีโอกาสเข้ามาในโครงการนี้เป็นเวลา 6 ปีแล้ว มองว่าการเต้นและจังหวะเพลงที่ใช้เต้น มีประโยชน์ ช่วยให้เด็กได้พัฒนาด้านอารมณ์ หรือ EQ และยังช่วยเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ช่วยให้“น้องกิล”หายจากอาการภูมิแพ้ที่เคยเป็น ได้พัฒนาด้านบุคลิกภาพ ความคิด ทำให้เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน เพราะเด็กต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าปกติ จะมีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องซ้อมเต้น จึงต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้ความรับผิดชอบในหน้าที่ ตัวเองมองว่าเด็กยุคนี้ควรต้องมีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความคิดและจินตนาการ การเต้นหรือศิลปะต่างๆที่เด็กสนใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ควรให้การสนับสนุน