ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จัดงานสัมมนาลูกค้า SCG Chemicals Digest 2019 หัวข้อ “ทันกระแสโลก: สงครามการค้าจีน–สหรัฐฯ” เพื่อนำเสนอมุมมองเศรษฐกิจ ความผันผวน ความท้าทาย และวิเคราะห์สถานการณ์เตรียมรับมือกับสงครามการค้าโลกให้แก่ผู้ประกอบการพลาสติกกว่า 400 คน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านสังคม วัฒนธรรม การค้า รวมถึงความเป็นมาของปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน 
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของโลก และบรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้รับมือและปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประเมินสถานการณ์ราคาและสั่งซื้อน้ำมัน ขณะเดียวกันได้มีการบริหารจัดการต้นทุน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม
ด้าน นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกผันผวนจากการปรับตามราคาน้ำมันที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และยังส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย นอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว อีกประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลาสติก คือวิกฤตที่เกิดจากขยะต่างๆ ที่มีการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิต ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ไม่ได้นิ่งนอนใจกับวิกฤตนี้ จึงได้พยายามสร้างความเข้าใจ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” ด้วยการผลิต ใช้ และวนกลับ รวมถึงการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกิดจากนโยบายที่เน้น “อเมริกาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อตอบสนองฐานเสียงของอเมริกันอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเอียงขวา ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะจากความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจีนที่รวดเร็วและจะก้าวเหนือสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเงินไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ง่ายแม้จะมีการเจรจาก็ตาม เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้ความขัดแย้งนี้ ซึ่งจริง ๆ ยังไม่เป็น “สงคราม” กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในประเทศไป ผลของการต่อรองครั้งนี้จะเป็นปัจจัยต่อชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อไปของทรัมป์ ปัญหาความขัดแย้งกับจีนเปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้ใช้วิธีการที่เขาถนัด นั่นคือศิลปะการต่อรอง แต่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะทำงานได้ยากลำบากที่สุด
สำหรับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองว่า กลยุทธ์ของจีนในการรับมือสงครามการค้ากับสหรัฐฯในครั้งนี้ อาจสรุปได้เป็น กลยุทธ์ 4R ได้แก่ 1. RESIST – กลยุทธ์ซื้อเวลาและปลุกชาตินิยม 2. RETALIATE – กลยุทธ์ตีให้ตรงเป้า เอาให้พอเหมาะ เป็นการตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงสินค้าเกษตรและลดค่าเงินหยวน 3. REFORM – กลยุทธ์ปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดภาคเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ การลดการพึ่งพิงจากเทคโนโลยีภายนอกประเทศ และกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดคือ 4. REORGANIZE – จัดห่วงโซ่เศรษฐกิจใหม่ เน้นตลาดผู้บริโภคภายในประเทศและตลาดในประเทศเส้นทางสายไหมใหม่ รวมทั้งกระจายฐานการผลิตไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ งานสัมมนาลูกค้า “SCG Chemicals Digest” เป็นงานสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับลูกค้าของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในด้านการตลาด เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจของลูกค้าให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน