เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด

0
1084

ประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูงเป็นภาวะ stagflation นอกจากนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจ
โลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มีเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเป็นการระงับส่งก๊าซชั่วคราวของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานในยุโรป ปัญหาด้าน supply chain ในประเทศจีนจากการขาดแคลนพลังงานที่มีเหตุจากภัยแล้ง รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้มีผลลบต่อภาคการผลิต ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งต้องติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของ ไทยในระยะข้างหน้า
● แรงกดดันเงินเฟ้อยังสูงขณะที่ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในเดือนกันยายน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ในประเทศ นอกจากนี้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงภายหลังเฟดส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อจากแนวโน้มส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่จะมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตลดลง
• การท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.12 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 – 10 ล้านคน และในระยะข้างหน้ายังจะได้อานิสงส์จากการขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุน เศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางภาวะความเสี่ยงหลายประการ อย่างไรก็ดีต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าเดิม
● ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมาแต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0%กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.%YoY ปี 2565( ณ ก.ค. 65) ปี 2565 (ณ ส.ค. 65) ปี 2565 (ณ ก.ย. 65) GDP 2.75 ถึง 4.0 2.75 ถึง 3.5 2.75 ถึง 3.5 ส่งออก 5.0 ถึง 7.0 6.0 ถึง 8.0 6.0 ถึง 8.0 เงินเฟ้อ 5.0 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0

• ที่ประชุมกกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
1. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/ หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 – 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด
2. การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
3. ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ
ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง ที่ประชุมกกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว
• เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอีเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถติดต่อ และยื่นเอกสาร / คำร้องต่างๆ ทางอีเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาครัฐ
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่เปลี่ยนความผิด ที่เป็นคดีอาญาให้ไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป ทำให้ประชาชนที่ทำความผิดเล็กน้อย ยังถูกลงโทษปรับ แต่ไม่นับเป็นคดีอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรม
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่จะปรับปรุงการขออนุญาตต่างๆ กกร.ขอขอบคุณรัฐบาล และรัฐสภา ที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม