จากกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้สนับสนุนงบประมาณงานทดสอบวิจัยให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สำหรับทำโครงการวิจัยและทดสอบระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ ขนาดไม่เกิน 125 ซีซี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์นั้น
ในเวทีเสวนา ‘เผยผลทดสอบ “ระบบเบรก” รถจักรยานยนต์แบบไหนปลอดภัยสุด’ ได้มีการสรุปในสาระสำคัญว่ารถจักรยานยนต์ที่มีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) เป็นจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยที่สุด และในการขับขี่ การเบรกพร้อมกันทั้ง 2 ล้อเป็นวิธีเบรกที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศชี้ชัดว่าปัจจัยทั้งสองจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 30
ทั้งนี่ เครือข่ายขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยได้มีข้อเสนอถึงภาครัฐและผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ในเรื่องการติดระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น รวมถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเรื่องการเบรก เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร กล่าวว่า ผลสรุปที่ได้จากการวิจัยทดสอบ พบว่า การเบรกพร้อมกันทั้งล้อหน้าและล้อหลัง จะได้ระยะการเบรกที่สั้นที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่การเบรกด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในสถานการณ์ที่ต้องขับขี่เนื่องจากในสถานการณ์จริง ผู้ขับขี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือถนนลื่น และผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะการขับขี่ ทักษะการเบรกที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การมี ABS จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถได้ดีขึ้น
.
ด้าน พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ระบุว่า ในประเทศไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหมด แต่รถกลุ่มดังกล่าวกลับเป็นกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งระบบ ABS ทั้งที่ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบ ABS ทั้งในรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
.
ยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่มีการติดตั้งมีการติดตั้งระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์รุ่นต่ำกว่า 110 ซีซี ตั้งแต่ปี 2564 โดยข้อมูลจากหลายประเทศบ่งชี้ว่าการติดตั้ง ABS ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ได้ถึงประมาณร้อยละ 30
.
ขณะที่ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการ โดยพูดถึงเรื่องการสนับสนุนให้ติดตั้ง ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น การปรับปรุงเกณฑ์และการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการขับขี่ของผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ รวมไปถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ จำเป็นจ่อผู้ใช้งานอย่างครบถ้วนและถูกต้องด้วย
.
ส่วน ณัฐนัย หงสุรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานยานยนต์ ระบุว่า กรมขนส่งทางบก จึงมีแผนจะยกะระดับข้อกำหนดต่าง ๆ และ มีการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์สำหรับจักรยานยนต์ใหม่ โดยมีข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ฯลฯ ควบคู่กันไปเพื่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีแผนดังกล่าจะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะผลักดันให้มีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด