เลขาธิการ คปภ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อรับมอบนโยบายและการดำเนินงานด้านการประกันภัย

0
1637

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรับมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมกระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ

ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับบทบาทภารกิจหลักในการกำกับดูแลและพัฒนาธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย และการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับนโยบายและมาตรการสำคัญของรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มฐานรากรวมถึงพัฒนาให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการที่สำคัญ 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการรองรับนโยบายภาครัฐ ได้แก่ การต่อยอดและขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผล การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพของธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การประกันภัยสำหรับผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกรมขนส่งทางบก มาตรการเยียวยาปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนทั่วไป และชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเป็นการลดภาระในการใช้งบประมาณสาธารณสุขของประเทศ มาตรการส่งเสริม
ให้ภาคธุรกิจประกันภัยเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การลงทุนของธุรกิจประกันภัย เป็นต้น มาตรการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีด้านประกันภัย โดยการจัดตั้งศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (CIT) มาตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย โดยการปรับปรุงร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงระบบประกันภัยและการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยแก่ประชาชน โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการประกันภัยที่สำคัญ ๆ เพิ่มเติมดังนี้
(1) การจัดทำประกันภัยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยรัฐบาลสนับสนุนเบี้ยประกันภัยถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในกลุ่มฐานรากได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย จึงจะเร่งให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนทุกอาชีพตระหนักและเห็นความสำคัญของการออมในระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต
(2) กรณีการจัดทำประกันภัยคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศนั้น ควรส่งเสริมบริษัทประกันภัยในประเทศให้สามารถจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยสามารถซื้อประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ได้จากประเทศต้นทาง
(3) การส่งเสริมการประกันสุขภาพ ให้เน้นการดำเนินงานที่ส่งผลให้คนไทยเห็นความสำคัญของการจัดทำประกันชีวิตและการจัดทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และเห็นด้วยกับแนวทางการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยใช้การประกันภัยสุขภาพเพิ่มในส่วนของค่าลดหย่อนให้เทียบเท่ากับประกันชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรทบทวนความเหมาะสมของวงเงินค่าลดหย่อนภาษีประจำปีประเภทต่าง ๆ
(4) เห็นควรส่งเสริมการจัดทำประกันภัยสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของรัฐ อาทิ เช่น สนามบิน รถไฟ หรือการประกันภัยสำหรับรถยนต์ของราชการ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำประกันภัย จึงควรมีการศึกษาและส่งเสริมให้มีการจัดทำประกันภัยสำหรับทรัพย์สินของทางราชการและโครงการของรัฐ เพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐ
(5) ควรส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพิ่มเติมจากเขตอุตสาหกรรม EEC อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย เป็นต้น ซึ่งการลงทุนอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1) รัฐบาลลงทุนเอง 2) ให้เอกชนลงทุน โดยอาจกำหนดให้เอกชนลงทุนทั้งหมด หรือ เอกชนลงทุนเฉพาะส่วน O&M (Operation & Maintenance) แล้วรัฐบาลลงทุนในส่วนของการก่อสร้าง โดยทำ financial model เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ขอให้สำนักงาน คปภ. ติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ได้มีการเสนอกระทรวงการคลัง เช่น การรับประกันภัยต่อ การนำประกันภัยมาต่อยอดสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการประกันภัยพืชผลโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากมีปัญหาอย่างไรก็ขอให้แจ้งมาให้ทราบด้วย

“สำนักงาน คปภ. พร้อมรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และภาคส่วนอื่น ๆ ตลอดจนทุ่มเทสรรพกำลังในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทย ให้เป็นหลักประกันความมั่นคงของประชาชน อันจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย