เลขาธิการ คปภ. ปิดหลักสูตร วปส.9 brain storming ครั้งใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและภาคเอกชน เสนอโปรเจคขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

0
1740

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 9 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะริเวอร์รี บายกะตะธานี เชียงราย ซึ่งหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 9 เป็นรุ่นที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่มีการจัดหลักสูตรดังกล่าวที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ธุรกิจประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 101 คน ซึ่งต้องเข้าร่วมรับการอบรม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้นเรียนและเข้าศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตลอดจนต้องจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประกันภัยของไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) เป็นกิจกรรมที่หลักสูตรฯ ให้ความสำคัญและกำหนดให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม เพื่อช่วยกันระดมความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ มานำเสนอในรูปแบบรายงานวิชาการ โดยในการปิดหลักสูตร วปส.รุ่นที่ 9 ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม GP ต่อคณะอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆและผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส.9 ก็ได้ร่วมรับฟังและซักถามด้วย

สำหรับรายงานวิชาการแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หัวข้อการประกันภัยสุขภาพพื้นฐานสำหรับผู้ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐ (การประกันภัยสุขภาพภาคบังคับ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐ โดยเฉพาะสวัสดิการจากสิทธิที่ได้รับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสิทธิตามสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความพึงพอใจต่อการรับบริการด้านการรักษาพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการที่รวดเร็ว เสมอภาคและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยแนวคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการบริหารจัดการงบประมาณค่ารักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระในการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

กลุ่มที่ 2 หัวข้อแนวทางการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการ ได้เสนอผลงานในเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการผ่อนคลายการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชนอย่างทั่วถึง

กลุ่มที่ 3 หัวข้อการพัฒนาระบบตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยสุขภาพ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้จัดการเก็บข้อมูล ติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกัน เช่น ทาง Line, Facebook หรือพัฒนา Application เพื่อใช้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลประกันภัยให้ครบถ้วนระหว่างการประกันสุขภาพในส่วนของประกันวินาศภัย และการประกันชีวิต ทำให้ผู้เอาประกันภัย สถานพยาบาล บริษัทประกันภัย และหน่วยกำกับดูแล สามารถตรวจสอบสิทธิ และความคุ้มครองจากการทำประกันภัยสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม ภายใต้วงเงินความคุ้มครองที่ชัดเจน มีการบริหารจัดการข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับตรวจสอบได้อย่างเหมาะสม

กลุ่มที่ 4 เรื่องยุทธศาสตร์การนำเทคโนโลยีประกันภัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์การออมของคนไทยในปัจจุบันว่า ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการประกันภัย มีแนวคิดนำข้อมูลความแข็งแรงทางร่างกายและสุขภาพมาเป็นส่วนช่วยลดเบี้ยประกันภัย โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ การใช้ระบบ GPS ติดตามพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และใช้ Smartwatch เก็บข้อมูลการเดิน การวิ่ง อัตราการเต้นของหัวใจ สร้างเป็นระบบนิเวศ (EcoSystem) ของข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Smart InsurTech Platform เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและลดเบี้ยประกันภัยตามความแข็งแรงของร่างกาย (Body Age) ของแต่ละบุคคล

กลุ่มที่ 5 เป็นเรื่อง Healthtech เปลี่ยนอนาคต Healthtech is reshaping the Future เสนอปัญหาภาพรวมการรักษาผู้ป่วยในรูปแบบผู้ป่วยนอกที่เป็นข้าราชการ ซึ่งเกิดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การใช้ยาผิดวิธี การลืมทานยา ใช้ยาไม่ตรงตามแพทย์สั่ง ยาเกิดความเสื่อมสภาพหมดอายุ การเบิกจ่ายยาที่ซ้ำซ้อน ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วย เช่น เกิดอาการแทรกซ้อน ผู้ป่วยไม่หายจากโรค เป็นต้น และยังส่งผลกับงบประมาณภาครัฐที่ถูกใช้จ่ายสูงเกินกว่าความเป็นจริงเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาในการรวมศูนย์ข้อมูลการรักษา การเบิกจ่ายยา และการใช้ยา โดยรวบรวมข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Pharmasafe ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการใช้ยา ข้อมูลจ่ายยาแก่ผู้ป่วย เตือนเรื่องการใช้ยา การพบแพทย์ ตรวจสอบและเตือนการแพ้ยา แบ่งปันข้อมูลการใช้ยาให้กับคนในครอบครัว ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของภาครัฐ

กลุ่มที่ 6 เรื่องการใช้เทคโนโลยีติดตามข้อมูลพฤติกรรมการขับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ในการคำนวณเบี้ยประกันเพื่อความปลอดภัยของสังคม ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้เกิดระบบการประกันภัยรถยนต์โดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมการขับรถเป็นปัจจัยหนึ่งในการคิดเบี้ยประกันภัย โดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งขนาดใหญ่ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้วัดข้อมูลพฤติกรรมการขับรถ การติดตามด้วยระบบ GPS การใช้ mobile app เป็นต้น เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงพฤติกรรมการขับรถและเป็นปัจจัยในการคำนวณเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นแนวทางลดการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยของสังคม

กลุ่มที่ 7 เรื่อง มาตรการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเชิงรุกเกี่ยวกับประโยชน์การทำประกันชีวิตและกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ได้ศึกษาหาแนวทาง เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องสิทธิประโยชน์จากเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความแล้วไม่ทราบสิทธิในการรับเงินคืนจากกองทุนประกันชีวิต โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้เอาประกันผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อทางยานพาหนะ การจัดงาน Event เป็นต้น รายงานการศึกษากลุ่ม GP เหล่านี้ล้วนใช้นวัตกรรมประกันภัย และตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้นำไปประยุกต์ใช้และเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย สังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต

“ต้องขอชื่นชมนักศึกษา วปส.9 ที่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถกันเต็มที่ในการนำเสนอรายงานวิชาการ โดยทั้ง 7 หัวข้อ ล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย และผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ซักถามและให้ข้อแนะนำต่างๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุงรายงานวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และจะได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกสุดยอดรายงานวิชาการดีเด่นเพื่อนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงาน คปภ. และนำลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารด้านประกันภัยต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย