เลขาธิการ คปภ. นำทัพอุตสาหกรรมประกันภัย ล่องใต้ลงพื้นที่เมืองพัทลุง ส่งท้ายโครงการอบรมความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ Training for the Trainers ปี 2563 อย่างยิ่งใหญ่ • เผยยอดชาวนาทำประกันภัยข้าวนาปีในปี 63 นับถึงเดือนตุลาคมสูงถึง 44.36 ล้านไร่ ทุบสถิติทุกปีที่ผ่านมา • เล็งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยยางพาราต่อยอดประกันภัยพืชผลทางเกษตร พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานประกันภัยพืชผลอย่างยั่งยืน

0
1554

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้ง ขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกรและผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกร โดยปีนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้กำหนดพื้นที่จัดการอบรมฯ ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาฬสินธุ์ และพัทลุง ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายในการปิดโครงการของปีนี้

โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เลขาธิการ คปภ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คปภ. และคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกว่า 100 คน ณ หอประชุมองค์กรบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ตำบลเขาเจียก อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เพื่อรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ซึ่งเกษตรกรได้สะท้อนสภาพปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงได้รับทราบความต้องการในพื้นที่เกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลประเภทอื่นโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ถัดมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เลขาธิการ คปภ. ได้เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ณ ห้อง Siva Grand Ballroom ชั้น 2 โรงแรมศิวา รอยัล อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดพัทลุง เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ในการจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดพัทลุง ถือเป็นเมืองเกษตรกรรมและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่ยังมีการเพาะปลูกข้าวที่มีคุณภาพสูง คือ ข้าวสังหยด แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยก็ตาม แต่ในปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ให้ความสำคัญในการทำประกันภัยสูงกว่าปีก่อนมาก และคาดว่า ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จะนำระบบประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงได้เกือบ 100% ซึ่งได้สั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องประกันภัยข้าวนาปีและช่วยกันเร่งขับเคลื่อนภารกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามโครงการให้สัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ดี จากวิถีชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุงที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด และลองกอง เป็นต้น ซึ่งหากพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่งต่อไปด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 45.7 ล้านไร่ โดยล่าสุด ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ข้อมูลการรับประกันภัยข้าวนาปีทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 44,360,043 ไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึงประกันภัยร้อยละ 72.58 ดังนั้นโดยภาพรวมของการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้ แม้จะยังไม่รวมตัวเลขการทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังเปิดรับประกันภัยข้าวนาปีไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และที่สำคัญประกันภัยสามารถเข้าไปบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการประกันภัยพืชผลนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับพืชผลทางการเกษตรมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ อาทิ การประกันภัยลำไย การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ โดยล่าสุดจากการลงพื้นที่พบว่า เกษตรกรมีความต้องการให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีพื้นที่ปลูกกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงาน คปภ.จะเดินหน้าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษารูปแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ควบคู่ไปกับการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือระบบเทคโนโลยีในการสำรวจความเสียหายและการชดใช้ค่าสินใหมทดแทนโดยเร็ว รวมถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น ส่วนในระยะยาว คือ การวางหลักเกณฑ์โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเกิดความยั่งยืน เนื่องจากภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568)

“ผมขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับสำนักงาน คปภ. อย่างเหนียวแน่นในการขับเคลื่อนโครงการอบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers สำหรับประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 อันจะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลของประเทศไทยอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย