เลขาธิการ คปภ. นำทัพผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ร่วมถกแนวทางกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ในเวทีการประชุม IAIS 2024 ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้

0
18


นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงาน สำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุมสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ครั้งที่ 30 (30th IAIS Annual Conference 2024) Annual General Meeting และ Committee Meetings ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) เป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารกลางแอฟริกาใต้ (South African Reserve Bank : SARB) ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วมจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและธุรกิจประกันภัยที่เป็นสมาชิกของ IAIS หน่วยงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล คณะผู้แทนจากสมาคมนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Association of Insurance Commissioners : NAIC) ตลอดจนผู้แทนจากสมาคมและหน่วยงานจากภาคเอกชน รวมจำนวนกว่า 500 คน จาก 105 ประเทศและหน่วยงานกำกับดูแล

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของการประกันภัยในการสร้างภูมิต้านทานให้แก่ระบบเศรษฐกิจและภาคประชาชน รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในภาคประกันภัย ตลอดจนการกำหนดทิศทางในอนาคตของ IAIS และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 3 การประชุมหลัก ประกอบด้วย การประชุมสัมมนาประจำปีของ IAIS (IAIS Annual Conference) ในหัวข้อ IAIS Executive Committee Town Hall and ICS Panel ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรฐานเงินกองทุนประกันภัย (Insurance Capital Standard : ICS) และแผนงานของ IAIS ในอีก 5 ปีข้างหน้า การประชุมสามัญประจำปี (Annual General Meeting) การประชุมสามัญประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของ IAIS ประจำปี 2567 การประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานต่าง ๆ ของ IAIS (Committee Meetings) จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Committee Meetings
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า Mr. Shigeru Ariizumi ประธานคณะกรรมการ Executive Committee ได้กล่าวถึงภาพรวมทิศทางแผนกลยุทธ์ของ IAIS ประจำปี 2568 – 2572 ซึ่งได้กำหนดแนวทางสำคัญเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล โดยให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลักคือ ด้านแรก การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบการเงิน (Enhancing Resilience) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่ซับซ้อนและท้าทาย เช่น ความผันผวนของตลาดการเงิน ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการใช้มาตรฐานเงินกองทุนประกันภัย (Insurance Capital Standard : ICS) เป็นมาตรฐานสากลในการวัดความเพียงพอของเงินกองทุนของกลุ่มบริษัทประกันภัยที่มีบริษัทในเครืออยู่ทั่วโลก (Internationally Active Insurance Groups : IAIGs) อันจะเป็นการพัฒนากลไกเพื่อช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติ เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น หรือวิกฤติทางการเงิน ทั้งนี้ IAIGs จะต้องมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงและการจัดการเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยก็ควรจะต้องมีการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่นี้ด้วย
ด้านที่ 2 การบูรณาการด้านความยั่งยืน (Integrating Sustainability) โดยมีเป้าหมายในการเข้าไปสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีบทบาทสำคัญในประเด็นความยั่งยืน เช่น การจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยรวมความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปในการวางแผนธุรกิจและการประเมินความเสี่ยงและการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น Climate Risk Assessment Tools เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยในการจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงนโยบายด้านการจัดการความเสี่ยงและการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนที่ยั่งยืน
ด้านที่ 3 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Embracing Technological Change) หมายรวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น InsurTech ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยนำเทคโนโลยี (InsurTech) มาปรับใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านต่าง ๆ เช่น การคำนวณเบี้ยประกันภัยที่แม่นยำ การประมวลผลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแบบอัตโนมัติ ตลอดจนจำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานในการสร้างกรอบการกำกับดูแลสำหรับเทคโนโลยี เช่น การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ และการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทาย เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Threats) หรือปัญหาที่อาจเกิดจากข้อผิดพลาดในการใช้ AI

ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะต้องพัฒนากรอบการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อให้เกิดเป็นการกำกับดูแลแบบ Principle Based อันจะไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือลดความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของภาคธุรกิจประกันภัย
ด้านที่ 4 การสร้างความร่วมมือระดับสากล (Enhancing Global Cooperation) ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเพื่อจัดการกับความเสี่ยงข้ามพรมแดน อาทิ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันวิกฤติทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น การพัฒนาความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกรอบการกำกับดูแล เช่น มาตรฐาน ICS และ Aggregation Method เพื่อปรับใช้ในประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน การสนับสนุนการทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญ เช่น การจัดการความเสี่ยงระดับโลก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในระบบการเงินในระดับสากล โดยรายงานประจำปี GIMAR 2024 ได้กล่าวถึงเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงในตลาดประกันภัยทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศการประกันภัย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงทางไซเบอร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ IAIS ที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบประกันภัยลดผลกระทบเชิงลบต่อระบบอุตสาหกรรมประกันภัย และผลักดันการเติบโตของตลาดประกันภัยต่อ นอกจากนี้ IAIS ยังให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลที่ครอบคลุมไปถึงการรับมือความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก และการป้องกันภัยคุกคาม ผ่านกรอบการทำงานแบบองค์รวม (Holistic Framework) และ การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Group-Wide Supervision) ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริษัทประกันภัย โดยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ขณะที่ยังคงเน้นความมั่นคงทางการเงินภายใต้กรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ขณะเดียวกันนี้ การบังคับใช้ TFRS 17

ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ที่โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสในข้อมูลทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ แต่ก็นำมาซึ่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรายงานที่ส่งผลให้กำไรและตัวเลขในงบการเงินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สำนักงาน คปภ. จึงอยู่ระหว่างปรับปรุงแนวทางการพิจารณาการจ่ายเงินปันผล เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทและสะท้อนถึงความเหมาะสมภายใต้บริบทใหม่ของ TFRS 17 นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายในแผนกลยุทธ์ IAIS 2025-2029 ที่มุ่งเน้นการกำหนดมาตรฐานสากลเพื่อให้การกำกับดูแลมีความโปร่งใส และสามารถลดช่องว่างด้านความคุ้มครองในตลาดประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งช่วยในการพัฒนากฎระเบียบและการกำกับดูแลภาคประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยในการปรับปรุงและพัฒนาการกำกับดูแลภาคประกันภัยแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการกำกับดูแลภาคประกันภัย อันเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นในระดับสากล ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน (Common Framework – ComFrame) สำหรับการกำกับดูแลกลุ่ม มาตรฐานเหล่านี้ช่วยให้การกำกับดูแลภาคประกันภัยของประเทศไทยมีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพระดับโลก