เลขาธิการ คปภ. ติวเข้มบุคลากรสำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) •ย้ำจัดเก็บและวิเคราะห์สถิติข้อมูลประกันภัยให้แม่นยำ ดึงจุดเด่นในพื้นที่เพื่อส่งเสริมและ ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และมุ่งประสิทธิภาพการคุ้มครองด้านการประกันภัยแก่ผู้บริโภคเต็มพิกัด

0
1628

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. จากส่วนกลาง ตรวจเยี่ยมสำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนางจุฑารัตน์ กองสินพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) ให้การต้อนรับและรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ทั้ง 6 จังหวัดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต โดยในภาพรวมของการปฏิบัติงานในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – กรกฎาคม 2563) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ภาคและจังหวัดมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายการทำงานเชิงรุกโดยเน้นให้มีการจัดเก็บข้อมูลสถิติด้านการประกันภัย เพื่อนำไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ สถิติอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยของประชาชนในพื้นที่ การรับเรื่องร้องเรียนในแต่ละจังหวัด โดยให้นำมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยสาเหตุใด ซึ่งจะทำให้รับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ตลอดจนให้กำหนดวิธีการในการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน คปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) มีพื้นที่ที่เป็นเกาะ ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดวิธีการใช้สื่อให้มีความเหมาะสมและมีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การใช้สื่อออนไลน์ วิทยุ หรือ โทรทัศน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้ในวงกว้าง

ทั้งนี้ จากการรายงานสภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า จังหวัดที่มีสถิติการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต รองลงมาคือ จังหวัดกระบี่ ซึ่งทั้งสองจังหวัดเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากรถบ่อยครั้ง โดยประเด็นข้อร้องเรียนคือ การเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จึงได้มีการกำหนดแนวทางและกรอบวิธีการในการตรวจสอบสาขาบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับการจัดการค่าสินไหมทดแทน ควบคู่ไปกับการจัดเก็บข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ และกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน รวมถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาข้อพิพาท และเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิตามสัญญาประกันภัยได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

สำหรับการดำเนินงานของคนกลางประกันภัย ขอให้มีการติดตามการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยเฉพาะการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Face to Face  ตามประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ซึ่งท่านปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นการถาวรแล้ว โดยให้ติดตามว่าผลตอบรับจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างไร เพื่อมิให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดในสังกัด ต้องร่วมกันการประชุมหารือและวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ เพื่อหาจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการประมง การปศุสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งพื้นที่ของ คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) เป็นพื้นที่ที่มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก เช่น ปาล์ม ยางพารา เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการจัดเก็บสถิติข้อมูล โดยให้ใช้แบบฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลที่สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาคร่วมกับสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยจัดทำและพัฒนาขึ้นในการวิเคราะห์เพื่อรับทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบของประชาชนที่เกิดขึ้น และ
ต่อยอดในการส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยหากจังหวัดใดดำเนินงานได้เป็นผลสำเร็จ ก็สามารถใช้เป็นโมเดลของจังหวัดอื่น ๆ ได้  รวมถึงการดำเนินงานตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์และโครงการต่อเนื่องตามนโยบาย เช่น การประกันภัยประมง การประกันภัยข้าวนาปี ก็ขอให้สำนักงาน คปภ. ภาค ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและใช้ระบบประกันภัยเข้ามารองรับความเสี่ยงภัยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“ผมขอให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนในสังกัดสำนักงาน คปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้รับทราบปัญหาและร่วมกันแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบและรัดกุม บริหารจัดการเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัยอย่างเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับกระบวนการทำงานในการใช้เทคโนโลยี พัฒนาตนเองและก้าวไปข้างหน้า พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สื่อสารประชาสัมพันธ์ความเข้าใจที่ถูกต้อง และดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงและเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย