เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า จากเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในไตรมาสสามของปี 2564 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก

0
1340

นำโดยเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียขยายตัวในเกณฑ์สูง และสำหรับธุรกิจประกันภัยไตรมาสสาม (มกราคม-กันยายน 2564) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 631,826 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 5.30 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจประกันชีวิต 439,056 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ ประกันชีวิตประเภทสามัญ 270,072 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.31 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม 30,952 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.28 และประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Unit Linked และ Universal Life) 34,714 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 88.33 นอกจากนี้ ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ 68,297 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.97 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่มีเบี้ยประกันภัยรับของธุรกิจประกันวินาศภัย 192,770 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ ประกันภัยรถ 104,416 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.94 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากประกันภัยรถภาคสมัครใจ 92,552 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.46 และภาคบังคับ 13,864 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.40 รองลงมา คือ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 73,641 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.49 ตามด้วยประกันอัคคีภัย 7,935 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.87 และประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 4,777 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 22.51

ทั้งนี้ มีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 39.47 โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมต่อจำนวนประชากร 13,128 บาท จากเบี้ยประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร 9,212 บาท และเบี้ยประกันวินาศภัยต่อจำนวนประชากร 3,906 บาท ในส่วนสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันภัยรวมทั้งสิ้น 4,215,376 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต 3,876,369 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.68 และสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย 339,007 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.43 นอกจากนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ร้อยละ 333.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และธุรกิจประกันวินาศภัยมี CAR ร้อยละ 246.86 ปรับตัวลดลงร้อยละ 59.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อรองรับความต้องการและตอบโจทย์ทุกมิติความเสี่ยงของประชาชน และสร้างบรรยายกาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตและสภาพคล่อง พัฒนาระบบการกำกับ การตรวจสอบด้านเสถียรภาพการตรวจสอบพฤติกรรมการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยแบบ proactive และ forward looking เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพให้ระบบประกันภัยของประเทศ พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี และฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันภัยของประเทศให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชน มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่ และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย