เร่งกู้วิกฤตเบาหวาน คร่าชีวิตคนไทย 200 ราย/วัน หนุนบทบาทพยาบาลร่วมสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าเป็นเจ้าภาพประชุมเบาหวานนานาชาติ ในปี 2564

0
1529

14 พฤศจิกายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 นี้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF: International Diabetes Federation) ได้กำหนดให้มีการรณรงค์ในหัวข้อ หัวข้อ Nurses Make the Difference for Diabetes หรือในชื่อภาษาไทยที่ว่า เปลี่ยนวิกฤตเบาหวานด้วยพลังแห่งการพยาบาล 

วันเบาหวานโลก 2563

การรณรงค์ในปีนี้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ มีความมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักของผู้คนบนโลก ต่อบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของพยาบาล ในการร่วมคัดกรอง ให้คำแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานตลอดจนภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ พยาบาลยังมีส่วนช่วยในการเสริมพลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างปกติ มีความสุข มีกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายที่คาดหวังในการดูแลรักษา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ได้เผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลกนั้น อยู่ในวิชาชีพพยาบาลมากถึงร้อยละ 59 ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่การรณรงค์ในปีนี้ จึงมุ่งไปที่การสนับสนุนบทบาทของพยาบาล ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับเบาหวานในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นในทุกประเทศก็ยังคงเป็นเรื่องการขาดแคลนจำนวนบุคลากรสายการพยาบาล มีการประเมินว่าทั่วโลกยังต้องการพยาบาลอีกอย่างน้อย 6 ล้านคน จึงจะเพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขให้เดินหน้าไปได้ด้วยดี อีกทั้งพยาบาลควรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 8 ต่อปี เพื่อให้มีจำนวนพยาบาลเพียงพอในปี พ.ศ. 2573

1 ใน 11 คนไทย ป่วยเบาหวาน

สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “เราประมาณการว่าตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบ ได้ว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน”

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกของโรคเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย คือ ความชุกของเบาหวานที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ กล่าว

เปลี่ยนวิกฤตเบาหวานด้วยพลังแห่งการพยาบาล

หลายปีที่ผ่านมาสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้เดินหน้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวาน สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และสร้างความตระหนักแก่สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการรณรงค์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในปีนี้สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้ร่วมมือกับสภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ จัดทำโครงการคัดเลือกพยาบาลดีเด่น ที่มีผลงานดีเด่นในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ในประเภทต่างๆ ได้แก่ พยาบาลนักวิชาการ/วิจัย พยาบาลนักพัฒนานวัตกรรม พยาบาลผู้ให้การบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ระดับ Hospital Care และ พยาบาลผู้ให้การบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน ระดับ Primary Care โดยเปิดให้โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ เสนอชื่อเข้าพิจารณา ระหว่าง 14 พฤศจิกายน 2563 ถึง 15 มกราคม 2564

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “นอกจากการรณรงค์วันเบาหวานโลกในปีนี้จะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพพยาบาลแล้ว ปี พ.ศ. 2563 นี้ ยังเป็นปีแห่งการชิดชูเกียรติ 200 ปี มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกและวางรากฐานวิชาชีพการพยาบาลสมัยใหม่อีกด้วย ซึ่งทางสมาคมโรคเบาหวานฯ เล็งเห็นว่า การยกย่องเชิดชูเกียรติพยาบาลที่มีผลงานดีเด่นในการป้องกันและดูแลรักษาโรคเบาหวาน จะมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลในด้านวิชาการ การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการปฏิบัติการพยาบาล ที่เกี่ยวกับการป้องกันและดูแลรักษาโรคเบาหวาน ให้ก้าวหน้าและทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของพยาบาลเบาหวาน หรือ Diabetes Nurses ให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับในวงการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและนานาชาติด้วย”

“อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขปัญหาโรคเบาหวานในประเทศไทยนั้น ยังคงต้องมีการเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของพยาบาลนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมกันสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนพยาบาล และสนับสนุนให้พยาบาลอยู่ในระบบสาธารณสุข ส่งเสริมการอบรมพัฒนาทักษะการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานให้พยาบาลที่ทำงานอยู่แล้ว เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชน เพิ่มแหล่งทุนการทำวิจัยสำหรับพยาบาล และสนับสนุนการทำงานของพยาบาลในทุกๆทางด้วย” รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ กล่าว

ประเทศไทย…เจ้าภาพประชุมเบาหวานนานาชาติ 

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยอีกเรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ นั่นคือ การได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัด The International Diabetes Federation Congress 2021 หรือ World Diabetes Congress 2021 เป็นงานประชุมใหญ่ของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ 2564 ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 เมื่อพิจารณาจากทรัพยากร ความพร้อม และความมุ่งมั่นในการจัดการวิกฤตการณ์เบาหวาน จากสมาชิกทั้งหมด 168 ประเทศ Bangkok IDF Congress 2021 จึงถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการประกาศศักยภาพของประเทศไทยบนเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของ COVID-19

IDF congress 2021 จะเป็นการประชุมของเครือข่ายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กำหนดนโยบาย และเครือข่ายสมาคมโรคเบาหวานในประเทศสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ผสานความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยมุ่งผลักดันให้โรคเบาหวานเป็นวาระด้านสุขภาพของโลกที่ต้องร่วมมือกันดูแลและป้องกัน ยกระดับการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ตลอดจนหาแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังมีวาระสำคัญพิเศษนั่นคือการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการค้นพบอินซูลิน หนึ่งในความก้าวหน้าทางการรักษาในประวัติศาสตร์ ที่ช่วยชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานมาแล้วหลายล้านคน