เมื่อเด็กๆ หาวิธีสร้างสรรค์สังคมยั่งยืนด้วย AI ชมผลงานด้านพลังงาน ทีมแชมป์ CREATIVE AI CAMP ปี 2 เฟส 2

0
1650

เมื่อทุกคนต้องรักษาระยะห่าง (Social Distancing) เพราะสถานการณ์ COVID-19 ค่าย CREATIVE AI CAMP ปีที่ 2 เฟส 2 จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย และพันธมิตร จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดค่าย จากการจัดแบบ “พบหน้า” มาเป็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แบบ “Phenomena Work-based Education Learning” แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแพลทฟอร์มดังกล่าว จะทำให้เยาวชนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผลงานด้าน AI ที่เยาวชนสร้างสรรค์ออกมาในปีนี้ น่าสนใจยิ่งขึ้น

จากโจทย์ที่ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. 4 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกจากเฟส 1 มาสร้างสรรค์ไอเดีย นำ AI มาสร้างประโยชน์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ปรากฏว่า ผลงานของทีม SA(E)VER BANK ที่ออกแบบแอปพลิเคชั่น “SA(E)VER BANK energy management application” มาตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการพลังงานได้รับรางวัลชนะเลิศจากการตัดสินของคณะกรรมการทั้งชาวไทยสิงคโปร์และจีน

น้องนอร์ธ-นภกร ทรัพย์สอาด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม สมาชิกทีม SA(E)VER BANK เล่าว่า จากโจทย์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางกลุ่มตระหนักถึงเรื่องปัญหาการใช้ทรัพยากรพลังงานที่ในบางครั้งอาจมีการใช้พลังงานที่มากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง จึงได้ช่วยกันสร้างสรรค์ไอเดีย ออกมาเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

แอปพลิเคชันดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลัก ประกอบด้วย 1.การพยากรณ์การใช้พลังงานภาพรวม (Power Consumption Prediction) โดยมอนิเตอร์ค่าไฟฟ้าที่ใช้ภายในอาคารหรือร้านค้า เช่น ในร้านสะดวกซื้อ และพยากรณ์ค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในอนาคต 2.การตรวจสอบการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่อง (Electricity Usage Monitor) ติดตั้งอุปกรณ์ด้าน IoT ไว้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า คอยตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าของแต่ละเครื่องในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งปกติมักมีความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน และควบคุมการปิด-เปิดในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน 3.การนำบล็อกเชนเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของชุมชน นำค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการใช้พลังงานไปตอบสนองความต้องการของชุมชน เบื้องต้น ต้องเก็บข้อมูลการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำสำหรับการใช้พลังงานในฤดูกาลต่างๆ อย่างครบถ้วน สำหรับนำมาใช้พยากรณ์การใช้พลังงาน

“AI คือสิ่งที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับแทบทุกอย่าง ช่วงที่ผ่านมา ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน เราเห็น AI ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ ด้านคมนาคมขนส่ง AI เข้ามามีบทบาทช่วยเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด ไวที่สุดให้กับเรา ปัจจุบัน AI อยู่รอบๆตัวเรา ไม่ว่าจะด้านการเรียนหรือด้านใดก็ตาม เชื่อว่า AI จะเข้ามามีบทบาทช่วยตอบโจทย์เรื่อง New Normal เพิ่มเติมได้อีกด้วย แต่ AI จะไม่ได้เข้ามาแทนที่คน เช่น เมื่อเทียบระหว่าง เลขาที่เป็นคน กับเลขาที่เป็น AI เลขาที่เป็นคนก็ยังคงทำงานต่างๆ ได้มากกว่า” น้องนอร์ธ ย้ำ

ด้าน น้องลุต-ลุตฟี ดีแม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพัฒนาวิทยา จ.ยะลา เล่าว่า แม้การทำงานในค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 เฟส 2 จะไม่ได้เป็นการพบหน้ากันโดยตรง แต่ก็ได้รับความรู้และทักษะที่เข้มข้นเพิ่มจากเฟสแรก เนื่องจากมีระยะเวลาการเรียนผ่านออนไลน์ที่ยาวนานขึ้น ทำให้ได้คลุกคลีกับการทำงาน การทดลองเรียนรู้ต่างๆ เช่น ทักษะด้าน API ทักษะด้านการเข้ารหัส ทักษะการทำงานของ Back-end developer ต้องขอบคุณทางซีพี ออลล์ที่ยังคงจัดค่ายปีที่ 2 เฟส 2 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ทั้งทักษะและได้มีโอกาสทำงานกับเพื่อนใหม่

ขณะที่ น้องการ์ตูน-ปานชนก ระวีวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนทัพราชวิทยา จ.สระแก้ว บอกว่า ค่ายนี้ถือว่าเปิดประสบการณ์เป็นอย่างมาก ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีพื้นฐานมากนัก จนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ได้มีโอกาสทำงานกับทีม ร่วมกันพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์ AI ด้านพลังงาน จนทั้งทีมได้รับชัยชนะได้

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZTRUS ในฐานะกรรมการตัดสินผลงานค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า ภาพรวมค่าย Creative AI Camp ถือเป็นค่ายที่ดี เนื่องจากเปิดโอกาสให้เยาวชนหลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มที่มีความสามารถด้านการเขียนโค้ดอยู่แล้ว เข้ามาร่วมกิจกรรม ขณะที่ภาพรวมผลงานเยาวชนในค่ายครั้งนี้ ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด เยาวชนได้แสดงให้เห็นทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเรื่องเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้มาผ่านการนำเสนอผลงาน ในอนาคตอาจมีการต่อยอดทักษะอื่นๆ ได้เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถพัฒนาผลงานนำไปใช้ได้จริง อาทิ การต่อยอดองค์ความรู้ในการเลือกเทคโนโลยี AI ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา การต่อยอดองค์ความรู้ด้าน Creative Thinking

“ปัจจุบัน สตาร์ทอัพไทยจำนวนมากมักบอกว่าธุรกิจของตัวเองเกี่ยวข้องกับ AI แต่ในความเป็นจริง สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ ยังเป็นเพียงผู้ใช้ ไม่ได้เป็นผู้ผลิต ในขณะที่ต่อไปเราอาจจะก้าวเข้าสู่ยุค Co-bot economy หรือยุคที่หุ่นยนต์ AI กับคนทำงานร่วมกัน โดยไม่ได้แทนที่กัน เราอยากเห็นเยาวชนไทยกลุ่มนี้เติบโตไปมีทักษะและมีความเข้าใจที่แข็งแรง กลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของประเทศที่สามารถพัฒนา AI ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งเชิงสังคมและเชิงธุรกิจ” ดร.พณชิต กล่าว

ในขณะที่ ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ผู้อำนวยการสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารโครงการ กล่าวว่า หลังจากเยาวชนทั้ง 4 ทีม ได้ทำชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) สมบูรณ์แล้ว จะมีการนำเสนอผลงาน ซึ่งการนำเสนอผลงานในค่ายครั้งนี้เป็นระบบ Online Pitching ข้ามประเทศระหว่างไทย สิงคโปร์และจีน โดยคณะกรรมการแต่ละท่านจะตัดสินด้วยระบบ Online Scoring แสดงผลการตัดสินอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่ของการจัดค่ายรูปแบบนี้อย่างหนึ่ง โดยต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ความรู้และคณะกรรมการตัดสินอาทิ Advanced Robotics Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS), Department of Information Management Peking University (มหาวิทยาลัยปักกิ่ง), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น

แม้การจัดค่ายครั้งที่ 2 เฟส 2 จะปิดฉากลง แต่การเรียนรู้ การสร้างสรรค์และแบ่งปันเพื่อสังคมยังเดินหน้าต่อไป โดยซีพี ออลล์ มีการคิดต่อยอดพื้นที่การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่นอกเหนือจากค่ายอย่างต่อเนื่อง จะเป็นรูปแบบไหนต้องคอยติดตามต่อไปได้ที่ https://www.facebook.com/caicamp/