นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟ.ซี. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เมืองไทยประกันภัย เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนกิจกรรมด้านการกีฬา ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจประกันภัยคือการเยียวยาประชาชน เมื่อเกิดภัยไม่คาดฝัน รวมถึงผลักดันให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้จากการที่เมืองไทยประกันภัยเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟ.ซี. ซึ่งมีพื้นที่ตั้งของสนามอยู่ใจกลางชุมชนคลองเตย ทำให้ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคนคลองเตย และมีความรู้สึกว่า ชุมชนคลองเตย สโมสรฯ และ บริษัท เมืองไทยประกันภัย เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่คลองเตยจึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาเมืองไทยประกันภัย จึงมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนคลองเตยอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่มาของโครงการ คลองเตยดีดี
สำหรับการร่วมมือกับ HarvardGraduate School of Design ในครั้งนี้ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย การสร้างความรู้สึกร่วมของคนในพื้นที่ให้ช่วยดูแลรักษาบ้านของตัวเอง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนคลองเตยให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
“นับเป็นโอกาสดีที่ เมืองไทยประกันภัย ได้ร่วมงานกับสถาบันการออกแบบระดับโลก Harvard Graduate School of Design และ ศาสตราจารย์ Anita Berrizbeitia MLA’ 87 หัวหน้าและแผนกภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงเป็นอาจารย์ของสาขาการวางแผนเมือง การออกแบบแผนเมือง และสถาปัตยกรรม เพื่อที่จะเข้ามาสำรวจ และวิจัยความต้องการในชุมชนภายใต้แนวคิด The New Landscapes of Equity and Prosperity การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตเพื่อความเท่าเทียมและความมั่นคง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นชุมชนที่ทุกคนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
“คลองเตยดีดี จึงเป็นการรวมพลังในแบบEast Meets West โดยใช้ความรู้และนวัตกรรมของ Harvard Graduate School of Design ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ของคนคลองเตย รวมถึงความตั้งใจจริงของบริษัทเมืองไทยประกันภัย เพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนคลองเตย ซึ่งเปรียบได้กับบ้านของชาวเมืองไทยประกันภัย และแฟนฟุตบอลสโมสรการท่าเรือด้วย” นางนวลพรรณ กล่าว
ด้าน Harvard Graduate School of Design นำโดยคณบดี Sarah M. Whiting ที่มาร่วมงาน
แถลงข่าวในวันที่ 7 มกราคม 2563 ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดย Harvard GSD จะส่งคณาจารย์และนักศึกษามาจัดตั้งสตูดิโอออกแบบในกรุงเทพมหานคร หัวข้อในการวิจัยมีตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเชิงธุรกิจ โครงสร้างเชิงระบบนิเวศน์ ภูมิทัศน์ รวมถึงพื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่น ๆ ในเขตคลองเตย
สำหรับรูปแบบการทำวิจัยจะอ้างอิงจากโมเดลสตูดิโอการทำวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่Harvard GSD เคยทำมาแล้ว โดยสตูดิโอจะประกอบด้วยอาจารย์หนึ่งคนหรือมากกว่านั้นนักศึกษาปริญญาโทประมาณ 12 คน และในโอกาสพิเศษครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่า Harvard GSD ในประเทศไทยที่มีความชำนาญด้านภูมิสถาปัตย์ ผังเมือง รวมถึงบริบทของพื้นที่ จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
โดยเมืองไทยประกันภัยจะให้การสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับชุมชนต่างๆ ในพื้นที่คลองเตย อันจะเชื่อมโยงให้การดำเนินงานวิจัยดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนแม่บทที่พร้อมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับนำไปต่อยอดในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ และคาดหวังว่า โมเดลคลองเตย จะเป็นต้นแบบชุมชนที่ส่งต่อโอกาส และความมั่นคงให้ผู้อาศัยและสังคม โดยหลังจากการวิจัยเสร็จสมบูรณ์จะมีการแบ่งปันองค์ความรู้สู่สาธารณะ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผ่านการจัดนิทรรศการ และงานวิจัย เพื่อขยายผลการศึกษาด้านการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป