เมย์แบงก์แนะโอกาสการลงทุน ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

0
601

บีเอ็นวาย เมลลอน ที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลกและพันธมิตรของเมย์แบงก์ ประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมยังคงอึมครึม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดค่อนข้างกังวลกับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างไรก็ตามสัญญาณของการเกิดภาวะดังกล่าวยังไม่เห็นอย่างชัดเจนนัก ในขณะเดียวกันเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและปรับตัวลงค่อนข้างช้า ธนาคารกลางหลักของโลกทั้ง Fed และ ECB จึงต้องทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2023 ที่ผ่านมา

อนินดา มิตรา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคภูมิภาคเอเชียและกลยุทธ์การลงทุน (Head of Asia Macro and Investment Strategy) บีเอ็นวาย เมลลอน มองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงอึมครึมอยู่ โดยเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ช้ากว่าที่คาด ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามทาง BNY Mellon คงมุมมองว่าความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2024 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยแบ่งออกเป็น 3 Scenarios ดังนี้ 1. วิกฤตสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) มีโอกาสเกิด 40% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปลายปีนี้ หรือช่วงต้นปีหน้า 2. เศรษฐกิจถดถอยล่าช้า (Delayed Landing) มีโอกาสเกิด 40% ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงกลางปีหน้า และ 3. Soft Landing มีโอกาสเกิด 20% ซึ่งเป็นภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอลงตามการลดลงของเงินเฟ้อ แต่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

แม้ว่าการประเมินของทาง บีเอ็นวาย เมลลอน จะชี้ว่ามีโอกาสสูงที่สินทรัพย์เสี่ยงจะถูกกดดันในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า แต่โอกาสในการลงทุนยังคงมีให้เห็นอยู่ดังนี้ 1. ตราสารหนี้คุณภาพดี (High-quality fixed income) ซึ่งมีความน่าสนใจจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่ใกล้สู่จุดสูงสุดแล้ว และเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ 2. หุ้นกลุ่ม Large-cap และ High Quality เป็นหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง และโครงสร้างทางธุรกิจชั้นเยี่ยม ซึ่งจะสามารถก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด

ด้านคุณอภิญญา องค์คุณารักษ์, CFA, CAIA กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงาน Investment Solutions บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่าการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้อย่างโดดเด่นโดยเฉพาะภาคบริการ พร้อมทั้งเริ่มเห็นการฟื้นตัวของภาคผลิตในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 4% และในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และค่อยๆ ทยอยปรับตัวลดลง พร้อมกับ Fed ที่ขึ้นดอกเบี้ยจนใกล้ถึงเป้าหมาย (Terminal rate)

คุณอภิญญา เผยอีกว่าการลงทุนระยะสั้น (1-3 เดือน) ในหุ้นจีนมีความน่าสนใจมากขึ้น หลังการปรับฐานลงของตลาดหุ้นจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เนื่องมาจากความผิดหวังของตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนหลังการเปิดเมืองเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นจีนได้รับรู้ (Priced-in) ข่าวดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ประกอบกับเตรียมรับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ผ่านนโยบาย 4 ด้านคือ 1. นโยบายการคลังแบบ Proactive 2. รัฐบาลท้องถิ่นเตรียมออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 3. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป และ 4. นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จะเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น