เผยเทคนิคเท่าทันภัยคุกคามการเงินโลกดิจิทัล

0
1246

ปัจจุบันการพัฒนาของโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนยุคใหม่ทั่วโลก ให้สร้างความร่ำรวยจากการลงทุนสกุลเงินที่จับต้องไม่ได้ ซื้อของด้วยการใช้ปลายนิ้วสัมผัส ทำงานจากบ้าน และเข้าแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่สร้างความสนุกสนานและสะดวกสบายในโลกออนไลน์ แต่ในภาพโลกดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัยนี้ มีมุมมืดที่อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์เช่นกัน ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัลอย่างมหาศาล สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ระดมเหล่านักวิชาการและนักธุรกิจการเงินออนไลน์ ร่วมหาทางออกหลังผู้บริโภคไทยต้องเผชิญหน้าภัยคุกคามทางการเงินในโลกออนไลน์แบบรายวันในเวทีวันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล 15 มีนาคม โดยสอดคล้องกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่ได้หยิบยกประเด็นหลักในการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ภายใต้หัวข้อ “การเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม” (Fair Digital Finance) เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่อาจทำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายหรือกลายเป็นหนี้สินในชั่วพริบตา

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเตือนผู้บริโภคว่า “เงินที่จะลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีต้องเป็นเงินเก็บในส่วนที่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ควรใช้เงินกู้เพื่อลงทุน และผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้หากตัดสินใจลงทุนเพราะหากเข้าลงทุนในจังหวะที่ดีอาจมีกำไร แต่หากเข้าไปในจังหวะที่ไม่ดีก็ต้องขาดทุน ซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคต้องระวัง และอยากฝากไปยังผู้ประกอบการสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ให้พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้บริโภคเมื่อเกิดการโอนผิดให้สามารถตรวจสอบและนำเงินกลับคืนผู้บริโภคได้ หรือกรณีถูกหลอกลวงผ่านออนไลน์ ส่วนนี้ผู้ประกอบการก็ควรต้องช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยเช่นกัน นอกจากนี้พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทยยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จึงอยากผลักดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในส่วนนี้ เพราะได้ขยับออกมาหลายครั้งซึ่งไม่อยากให้ละเลย เพราะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงในระดับสากลแล้ว โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากลได้เดินหน้าขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก”

 “ปัจจุบันพบว่าระบบคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีการกระจายตัวสูง ทำให้เกิดความล่าช้าหากผู้บริโภคร้องเรียนผิดหน่วยงานหรือผิดขั้นตอน จุดรับแจ้งเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ควรเป็นแบบให้บริการจบในที่เดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศฮอตไลน์ 1441 ขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ ปัญหาที่ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่สามารถปิดบัญชีของผู้ใช้บริการได้ ก็ทำให้อาชญากรโลกไซเบอร์สามารถโอนเงินของผู้เสียหายไปใช้ได้โดยง่าย หากดำเนินการได้ไม่รวดเร็วพอ และเพื่อเป็นการลดปัญหาภัยคุกคามทางการเงินในโลกออนไลน์ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้เดินหน้าจัดอบรมเยาวชนเพื่อให้พร้อมและรู้จักวิธีบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พร้อมก้าวสู่โลกธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวคือความรู้พื้นฐานที่ทุกคน   ต้องเข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมด้านธุรกรรมการเงิน ลดการถูกหลอกลวงซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างขึ้น”  การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคาร นั้นเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540-2560 ซึ่งต้องถือว่าไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเพราะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคขึ้น โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภครวมตัวกันกว่า 150 องค์กร เพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ จนทำให้สามารถจัดตั้งสำเร็จได้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 และได้มีการออกกฎหมายเฉพาะว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและกำหนดให้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้านครอบคลุม 8 ด้าน ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิสามารถเข้าขอความช่วยเหลือจากองค์กรเครือข่ายได้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังปัญหาที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมหาทางออกให้ผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงคุ้มครองสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 247 องค์กรใน 33 จังหวัด”

    ทั้งนี้ วันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล (World Consumer Rights Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก สิทธิผู้บริโภค ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2505 โดยได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ 2.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย 3.สิทธิที่จะเลือก และ 4.สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย นอกจากนี้ยังได้พูดถึงผู้บริโภคที่หมายถึงทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลบวกและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งตัวแทน ดังนั้นความเห็นของพวกเขาจึงไม่ถูกรับฟัง

   สิทธิผู้บริโภค ได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) การรณรงค์ในการสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค ส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคสำคัญไว้ 8 ประการ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติ กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2528 โดยการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2558 และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก

ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยติดต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่ :

ไลน์ :   @tccthailand

เฟซบุ๊ก :  สภาองค์กรของผู้บริโภค

อีเมล :   complaint@tcc.or.th

โทรศัพท์ :  081 134 9216