เปิดใจเครือข่าย TO BE NUMBER ONE ในงานสัมมนาประจำปี 2567

0
569

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการสัมมนาเครือข่าย TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2567” ว่าการสัมมนาเครือข่ายในครั้งถือเป็นวาระสำคัญของเครือข่าย TO BE NUMBER ONE ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสมารวมตัวกันโดยได้รับเกียรติจากท่านผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ และเขตกรุงเทพมหานคร และตัวแทนชมรม TO BE NUMBER ONE จาก Setting ต่าง ๆ จากจังหวัดภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งท่านคณะอนุกรรมการตัดสินการประกวด ซึ่งทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE สนองพระปณิธานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมให้สมาชิกทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมตามแนวทางโครงการ TO BE NUMBER ONE อย่างทั่วถึง สร้างรูปแบบของคนรุ่นใหม่ และสร้างสังคม TO BE NUMBER ONE ให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อให้เยาวชนไทยมีค่านิยม “เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด” มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข
จากการดำเนินงานตามแนวทาง TO BE NUMBER ONE มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เกิดผลลัพธ์ความสำเร็จกับเยาวชนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ TO BE NUMBER ONE ทำให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีทัศนคติเชิงบวก เป็นที่ยอมรับของเพื่อน คุณครู อาจารย์ ผู้ปกครอง เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และต้องการแสดงออกในทางที่ดีต่อผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

หม่อมหลวงยุพดี ศิริวรรณ ที่ปรึกษาโครงการ TO BE NUMBER ONE และเลขาธิการมูลนิธิโครงการ TO BE NUMBER ONE กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทาง กรอบ และตัวชี้วัดการประกวดผลการดำเนินงานจังหวัด อำเภอ เขตกรุงเทพมหานคร และชมรม TO BE NUMBER ONE ทุก Setting ประจำปี 2567 อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจากจังหวัดภูมิภาค เขต กรุงเทพมหานครจะได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งความสำเร็จในการทำงานในโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หัวใจสำคัญก็คือ “ความร่วมมือ” ซึ่งเป็นความร่วมมือทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเป็นเครือข่าย ทำให้เกิดผลดีที่เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น เยาวชนในสถานพินิจฯที่เป็นแกนนำชมรม TO BE NUMBER ONE จะมีศักยภาพ มีความกล้าแสดงออก มีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ทำให้ได้รับโอกาสจากสถานประกอบการ หรือ สถานศึกษาต่างๆ เพราะได้เห็นศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้เมื่อออกไปสู่สังคมภายนอก ขอขอบคุณเครือข่ายทุกท่านที่ร่วมกันสานต่อพระปณิธานขององค์ประธานโครงการอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด และยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจดำเนินงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของวัยรุ่นและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพของประเทศ


นายแพทย์วิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนา กล่าวว่าในการประกวดผลงานไม่ว่าโครงการ TO BE NUMBER ONE ของจังหวัดพิจิตรจะได้รางวัลไหน แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสังคมปลอดยาเสพติดและเยาวชนได้รับการปกป้องจากภัยยาเสพติด ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่เดินทางกันมาเราต้องมีการปรับปรุงพัฒนาทำให้ทุกชุมชนและสังคมปลอดยาเสพติด ซึ่งการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทั้งสถานศึกษา โรงเรียน อาชีวศึกษา โรงงาน เรือนจำ สถานพินิจฯ ชุมชน ทุกภาคส่วนต้องมีความสอดคล้องกันและผู้บริหารโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีส่วนสำคัญในการกระจายไปยังเครือข่ายระดับต่างๆ เช่น จังหวัดกระจายไปยังอำเภอ อำเภอก็กระจายไปยังส่วนอื่น เช่น โรงเรียน และลงไปสู่พื้นที่ ซึ่งโครงการ TO BE NUMBER ONE ของจังหวัดพิจิตร มีการจัดอบรม แคมป์ และจัดประกวดกันเองในระดับจังหวัด เป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ขาดโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ช่วยสร้าง Soft Skill ทักษะทางสังคม ส่งเสริมการพัฒนาอุปนิสัย บุคลิกภาพ ทัศนคติ และmindset ต่างๆ ให้กับเด็ก


นายธีระวุฒิ ประดิษฐ์แท่น “หมอหนึ่ง”ผู้อำนวยการ รพ.สต.หนองตะไก้ ที่ปรึกษาชมรม TO BE NUMBER ONE บ้านหนองตะไก้ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนาเล่าว่า ในอดีตชุมชนบ้านหนองตะไก้ถือเป็นพื้นที่สีแดงอันดับต้นๆเรื่องยาเสพติดที่เข้ามาแพร่ระบาดในหมู่เยาวชน ปีพ.ศ.2546 จึงได้เริ่มนำโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้ามาในชุมชน เพื่อนำมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆและสร้างแกนนำเยาวชนที่มีความเข้มแข็ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือปัญหายาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด เด็กมีพัฒนาการที่ดี มีความเป็นผู้ใหญ่ สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ดี ได้รับการศึกษาที่ดี เด็กมีอีคิวสูงได้งานที่ดี ไปที่ไหนก็มีคนให้โอกาสเพราะเห็นในศักยภาพ และยังเป็นแกนนำที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ เป็นวิทยากรด้านยาเสพติดให้กับค่ายบำบัดยาเสพติดของอำเภอและจังหวัดได้อีกด้วย จนกระทั่งปีพ.ศ.2551 จึงได้เริ่มเข้าประกวดในโครงการ TO BE NUMBER ONE และได้รางวัลมาเรื่อยๆตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ จนปัจจุบันอยู่ในระดับเพชรปีที่ 4 มองว่าเรามีองค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่เป็นไอดอลของเด็กๆ ทรงใกล้ชิดกับเด็ก เข้าใจเด็ก สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน และมีส่วนผลักดันให้เด็กๆอยากเข้ามาเป็นเยาวชนในโครงการ TO BE NUMBER ONE ให้เด็กได้พัฒนาตนเองเพื่อต่อยอดไปยังการเรียนในสถานศึกษาที่ระดับสูงขึ้น หรือการทำงานในหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับเพราะทุกคนยอมรับในความสามารถของเด็กทูบี


นางสาวขวัญฤทัย ศุภจินดา “ครูเบียร์” ครูที่ปรึกษาชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมาเล่าว่า จากที่นำโครงการ TO BE NUMBER ONE เข้ามาในโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ได้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้ใช้เวลาไปกับสารเสพติด และมีการสุ่มตรวจระหว่างโรงเรียนร่วมกับสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันไม่พบผู้ใช้สารเสพติด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีก เช่น ส่งแกนนำเข้าร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาสมาชิก TO BE NUMBER ONE ปีละ 2 ครั้ง, การเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด,การใช้เสียงตามสาย,แข่งขัน COVER DANCE, แข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติด การปั่นจักรยานรณรงค์ในโรงเรียนและในชุมชน Bike for TO BE NUMBER ONE ฯลฯ ซึ่งทางโรงเรียนได้เริ่มเข้าประกวดระดับภาคในปีพ.ศ.2555 และเข้าสู่ระดับประเทศปีพ.ศ.2560 มองว่าการมีโครงการ TO BE NUMBER ONE ในโรงเรียนทำให้เด็กมีความกล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตัวเอง รู้จักวิธีปฏิเสธสิ่งยั่วยุ มีทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น โครงการทูบีฯช่วย เปิดโลกเปิดสังคมให้กับเด็กในดำบลเล็กๆได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเอง และได้รับการยอมรับในสังคม และจากการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ที่คาดหวังไว้คือการได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายทูบีรายอื่นๆ เพื่อนำเอาประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้กับงานทูบีในโรงเรียนของตนเอง

นายสิทธิโชค อินทรเทพ“ครูเก๋” ครูประจำศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จ.ยะลา สังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เล่าว่ากิจกรรมของ TO BE NUMBER ONE เป็นส่วนหนึ่งในโครงการใครติดยายกมือขึ้น

ซึ่งอยู่ในโปรแกรมการบำบัดของศูนย์ฝึกฯ หลักๆคือการสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ทำกิจกรรมต่างๆ การประกวด การจัดบูธ การแข่งขัน จากที่เด็กไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถทำได้ก็พัฒนาตัวเองจนได้เป็นตัวแทนของชมรมและได้เข้าประกวด มองว่าเป็นโอกาสให้กับเด็ก ในฐานะที่เด็กสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ จึงสามารถนำไปขอลดระยะเวลาการฝึกอบรมกับศาลได้ เด็กจึงเห็นประโยชน์ของการร่วมกิจกรรมกับทูบี พอรุ่นต่อๆมาเด็กก็เริ่มให้ความสำคัญและสมัครเข้ามาร่วมเป็นแกนนำชมรม TO BE NUMBER ONE ของศูนย์ฝึกฯเพิ่มมากขึ้น พอเด็กมีความหวัง มีเป้าหมายมากขึ้น พฤติกรรมเด็กจะดีมากขึ้น เด็กจะให้ความสำคัญจดจ่อกับสิ่งที่เขาจะทำ เช่น การฝึกซ้อม การเป็นแกนนำ การช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อต่อยอดให้ชมรมฯ ทำให้เด็กลดการกระทำผิดลงขณะอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ซึ่งเด็กที่เป็นแกนนำทูบีเมื่อออกไปแล้วก็ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น