เปิดโมเดลญี่ปุ่นต้นตำรับสังคมผู้สูงวัยสุขภาพดี พร้อมมุมมองภาคเอกชนร่วมให้ความรู้สุขภาวะช่องปากที่ถูกต้อง ผ่านงาน “สัมมนาการดูแลสุขภาพช่องปาก”

0
1853

เป็นที่ทราบกันว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญนอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจแล้ว สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากที่ดีสะท้อนถึงการมีสุขภาพที่ดีด้วยเช่นกัน  

  ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) สมาพันธ์ผู้ผลิตยาสีฟัน และ Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOT) ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย จัดงาน “สัมมนาการดูแลสุขภาพช่องปาก 2564” (Oral Healthcare Seminar 2021) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปีนี้มีทั้งบุคคลในสาขาทันตแพทย์​ทันต​        ภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณาจารย์นักศึกษาด้านสาธารณสุข และอื่นๆให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ จำนวนกว่า 300 คน โดยมีบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอิร์ธ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท Sunstar Singapore Pte.Ltd.  ร่วมเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุ 

    นายคาคุฮิโร ฟุคาอิ คณะกรรมการ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพฟุคาอิ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าแต่ละประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นคือมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ภาครัฐได้ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ผ่านระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย    นี่เป็นปัญหาสังคมที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบ  ดังนั้นสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญและมองเป็นความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะลดช่องว่างระหว่างอายุขัยเฉลี่ย(life expectancy) กับอายุที่มีสุขภาพดีให้น้อยลง และเปลี่ยนจากสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ให้กลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุสุขภาพดีจำนวนมาก

นายคาคุฮิโร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ความเชื่อมโยงกันของสุขภาพช่องปากและความพิการในประชากรผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าจำนวนฟันที่น้อยลง ส่งผลต่อความสามารถในการเคี้ยวและความเปราะบางของช่องปาก โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีฟันมากกว่า 20 ซี่ อีกด้วย

    จากการเห็นความสำคัญของสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุ กระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการสังคม กับสมาคมทันตกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรม “8020” รณรงค์ให้ประชาชนในกลุ่มผู้สุงอายุในวัย 80 ปี ดูแลและรักษาฟันไว้ให้ได้ 20 ซี่ขึ้นไป โดยจากการเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน  มีผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีฟันเหลือ 20 ซี่ คิดเป็น 50%  โดยในปี 2565 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเป็น 60% 

นอกจากนี้ มีมุมมองของภาคเอกชนไทยอีกหนึ่งองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ด้านตัวแทนจากบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด นางวรรณา ธรรมร่มดี ผู้จัดการบริหารสำนักกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาบริษัทฯให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาวะช่องปากที่ดีของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีปัญหาสุขภาวะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์โคโดโมสำหรับเด็ก  แบรนด์ซิสเท็มมาและซอลส์สำหรับวัยผู้ใหญ่ และแบรนด์กู๊ดเอจสำหรับผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการจัดโครงการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ที่ดำเนินการต่อเนื่องในหลายจังหวัดทั่วประเทศ นับเป็นแนวทางเดียวกันกับบริษัทไลอ้อนในประเทศญี่ปุ่น ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกช่วงวัย ได้มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง นำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีต่อไป” 

นับเป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งการดูแลสุขภาวะของช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ หากปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยก็จะมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว