เปิดเส้นทางฟาร์มปลานิลแห่งแรกภาคเหนือ ธพว. เสริมทัพยกระดับเติบโตยั่งยืนด้วย BCG Model

0
1192

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 25 ปีกว่าที่แล้ว พื้นที่ภาคเหนือไม่มีฟาร์มเลี้ยงปลานิลมาตรฐานแม้แต่แห่งเดียว กระทั่ง บริษัท ฟาร์มเชียงใหม่พัฒนาสัตว์น้ำ จำกัด เข้ามาบุกเบิกที่ จ.เชียงใหม่ จนกลายเป็นฟาร์มปลานิลต้นแบบ ช่วยเผยแพร่ความรู้ สร้างคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย

คุณอนันต์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท ฟาร์มเชียงใหม่พัฒนาสัตว์น้ำ จำกัด เล่าว่า เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว มีโอกาสไปเรียนรู้การทำฟาร์มเลี้ยงปลานิลจากมิชชันนารี พร้อมยึดทำอาชีพฟาร์มปลานิล อยู่ที่ จ.อุดรธานี นานนับสิบปีจนเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว กลับมาอยู่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเวลานั้น ทางภาคเหนือไม่มีฟาร์มเลี้ยงปลานิลเลย จากสาเหตุหลักขาดผู้มีความรู้ รวมถึง สภาพอากาศเย็นของภาคเหนือในเวลานั้น ยากต่อการเลี้ยง ที่ผ่านมา จึงไร้ผู้กล้าที่จะมาประกอบอาชีพนี้ในท้องถิ่น

“ปลานิลเป็นปลาที่ในหลวง ร.9 พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ทำให้เราอยากจะสืบสานศาสตร์พระราชา ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชาวภาคเหนือ จึงเริ่มบุกเบิกฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลแห่งแรกของภาคเหนือ” คุณอนันต์ เล่าถึงจุดเริ่มต้น

หัวใจแห่งความสำเร็จของการทำฟาร์มเลี้ยงปลานิล โดย บริษัท ฟาร์มเชียงใหม่พัฒนาสัตว์น้ำ จำกัด คือ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา นำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการประมงต่าง ๆ มาพัฒนายกระดับการเลี้ยงปลานิลอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากช่วยให้เชิงธุรกิจเติบโตแล้ว ยังเป็นการส่งต่อความรู้และประโยชน์ให้ขยายผลอย่างกว้างขวาง ด้วยการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ และฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ทั้งผู้อยากประกอบอาชีพ รวมถึง นักศึกษาด้านเกษตรประมง เข้ามาศึกษาดูงาน ทั้งนี้ มีผลงานโดดเด่น ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4-5 ที่แล้ว ด้วยการนำแผง “โซล่าเซลล์” มาใช้ควบคุมอุณหภูมิน้ำที่ใช้เลี้ยงปลานิล

“ช่วงหน้าหนาวทางภาคเหนือ อากาศจะเย็นมาก น้ำในบ่อ อุณหภูมิจะลดเหลือแค่ 9 องศา ในขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะแก่การเลี้ยงปลานิลอยู่ที่ประมาณ 28-29 องศา เราจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยกันวิจัยและพัฒนาแผงโซล่าเซลล์ ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาต้มน้ำให้อุ่น สามารถควบคุมอุณหภูมิในโรงฟักปลานิลได้เหมาะสม ช่วยให้ลูกปลาแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพได้ผลผลิตมากขึ้น ในเวลาเลี้ยงที่น้อยลง” คุณอนันต์ อธิบายเสริมถึงการนำเทคโนโลยีมายกระดับการเลี้ยงปลานิล

ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวของ บริษัท ฟาร์มเชียงใหม่พัฒนาสัตว์น้ำ จำกัด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย นำ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจใหม่ มุ่งส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตเคียงคู่กันไป ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนแก่ระบบเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เข้ามาเสริมแกร่งผ่านการเติมทุน “สินเชื่อ BCG Loan” สนับสนุนให้ยกระดับสู่ BCG Model ได้สำเร็จ

“SME D Bank มาช่วยสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้เรา ตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ทำให้มีแหล่งทุนไปใช้บริหารจัดการธุรกิจได้สะดวก และล่าสุด เข้ามาสนับสนุนเติมทุนต่อเนื่อง เพื่อให้เรามีเงินไปลงทุนด้านพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนพลังไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน ดีต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติด้วย” คุณอนันต์ ระบุ

จากเบื้องต้น มีพื้นที่ฟาร์ม ประมาณ 10 ไร่ ปัจจุบัน ขยายรวมกว่า 50 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับบ่อเพาะพันธุ์ปลานิล จำนวน 23 บ่อ ตลาดหลักส่งขายลูกปลานิลให้แก่ผู้ทำฟาร์มเลี้ยงปลานิลรายต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ นอกจากนั้น ยังทำบ่อเลี้ยงปลานิลสำหรับขายเนื้อ อีก 16 บ่อ โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อถึงในฟาร์ม

จากการบุกเบิกทำฟาร์มเลี้ยงปลานิลแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว ผลักดันให้ทุกวันนี้ มีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลานิลมากมาย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนมหาศาล รวมถึง เมื่อแนวทางใช้ BCG Model ยกระดับธุรกิจของ “บริษัท ฟาร์มเชียงใหม่พัฒนาสัตว์น้ำ จำกัด” ถูกขยายผล ส่งต่อไปยังฟาร์มแห่งอื่นๆ ย่อมก่อให้เกิดการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจไทย พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

ติดต่อ

โทร.081-980-8961 , 053-857-822
FB: ChiangmaiAquaticDevelopmentFarm