เปิดเวที NRCT Talk ตอบปัญหา “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ”

0
13

วันที่ 22 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีแถลงข่าว NRCT Talk ในหัวข้อ “ฝุ่นมาจากไหน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานกรรมการกำกับและติดตาม การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์กลางด้านความรู้ด้านมลพิษทางอากาศและภูมิอากาศ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. และคุณจรูญ เลาหเลิศชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ได้ตระหนักถึงการนำงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยอย่างยิ่งสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูง (สีแดง) ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กิจกรรม NRCT TALK ในครั้งนี้จึงต้องการนำเสนอข้อมูลแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 จากงานวิจัยและนวัตกรรม

ซึ่งครอบคลุมถึงสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยร่วมมือกับ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC)” ภายใต้แผนงานการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกําลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคำตอบ และช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุฝุ่น PM2.5 และสามารถเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษางานวิจัยและนวัตกรรม มลพิษทางอากาศเกิดจากหลายสาเหตุ และมีปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 ดังนี้ (1) แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 เช่น การเผาในที่โล่ง การจราจร (2) สภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการแพร่กระจายหรือการเคลื่อนที่ของฝุ่น PM2.5 เช่น ลม ความกดอากาศ และ (3) ลักษณะภูมิประเทศ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

ซึ่งจากสาเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะเห็นตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงในช่วงเวลากลางคืนถึงเช้า อันเนื่องด้วยสภาพอากาศปิดจากการหักกลับของอุณหภูมิ (inversion temperature) ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งและแนวราบได้ตามปกติจึงทำให้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น (อัตราส่วนน้ำหนักต่อปริมาตรอากาศ) ประกอบกับปริมาณการจราจรที่หนาแน่นในช่วงเช้าและฝุ่นจากการเผาในที่โล่งที่ถูกพัดพามาโดยลมจากทิศตะวันออกของประเทศไทย และช่วงหลัง 10.00 น. เป็นต้นไป

จะเห็นว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะลดลงได้ โดยที่ปริมาณฝุ่นไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเพดานการลอยตัวของอากาศสูงขึ้น (ปริมาตรเพิ่มขึ้น) ซึ่งจะเห็นได้ว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น แต่เราสามารถทราบสภาพอากาศล่วงหน้าได้จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบมาตรการและนโยบายเพื่อควบคุมที่แหล่งกำเนิดฝุ่นได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

คุณจรูญ เลาหเลิศชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเสริมถึงปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 จาก “ความเสถียรของชั้นบรรยากาศ” และ “ความแตกต่างของอุณหภูมิ” ที่ความสูงระดับต่าง ๆ ของชั้นบรรยากาศ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของฝุ่นเข้าไปแทรกหรืออยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อขอบเขตของบรรยากาศที่ไม่เสถียร (unstable boundary layer) ซึ่งมีชั้น mixed layer สูงมาก ซึ่งจะเกิดในหน้าร้อนในวันที่อากาศแจ่มใส ไม่มีเมฆ การแผ่คลื่นความร้อนซึ่งเป็นความยาวคลื่นช่วงยาวจะทำให้บรรยากาศที่ใกล้ผิวดินร้อน อากาศที่ร้อนจะลอยตัวขึ้นด้านบนแบบหมุนวน (turbulence) พาฝุ่นหมุนวนขึ้นไปด้านบนได้สูง ในทางตรงกันข้ามการกระจายของฝุ่นเข้าไปแทรกในบรรยากาศจะทำได้ไม่ดีในฤดูหนาวที่มีเมฆมาก เกิดการผกผันของอุณหภูมิ (inversion temperature) ทำให้ขอบเขตของชั้นบรรยากาศเป็นแบบเสถียร (stable boundary layer)

เนื่องจากบรรยากาศในระดับที่ใกล้พื้นผิวดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าบรรยากาศที่อยู่ด้านบน อากาศเย็นจะจมลงแทนที่จะลอยตัวขึ้นด้านบน จะไม่เกิดการเคลื่อนที่แบบหมุนวน (turbulence) ชั้น mixed layer จะลดลง ทำให้เมื่ออากาศเสถียร (นิ่ง) จะเกิดการกระจายตัวของฝุ่นได้น้อยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาดังกล่าว จะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรธรรมชาติตามรอบปี จึงเป็นที่มาของค่าฝุ่น PM2.5 ที่มักสูงขึ้นในช่วงต้นปี และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาได้

ทั้งนี้ การจัดเวทีแถลงข่าว NRCT Talk ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบของปัญหาฝุ่นละออง ผ่านมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม