วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงบททดสอบครั้งสำคัญที่ผ่านเข้ามา มีผู้คนที่ประสบปัญหาจำนวนมาก ทั้งตกงาน หรือต้องปิดกิจการลง แต่หากลองมองให้ดีแล้ว ในวิกฤตเหล่านี้คือ บททดสอบสำคัญที่ทำให้ทุกคนได้กลับมาตั้งสติ ปรับตัว และเรียนรู้ เพื่อจะฝ่าฟันทุกๆ ปัญหาของชีวิตไปได้
ด้วยอุดมการณ์ ‘เชื่อมันในคุณค่าของคน’ มูลนิธิเอสซีจี ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงผลิตและเผยแพร่หนังสั้นเรื่อง “จดหมายจากปลายเท้า” (Hope Letter) เพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวิตจริง สะท้อนวิธีคิดและตัวตนของคนที่สามารถปรับตัว ปรับใจและรับมือกับวิกฤตนี้ได้ พร้อมชวนบุคคลผู้ไม่ย่อท้อ ทั้ง 4 คน ที่ก้าวผ่านวิกฤตด้วยการเอาพลังบวกเข้าสู้ และลงมือทำ มาร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์เพื่อสร้างพลังใจสู้วิกฤตโควิด-19 ให้คนไทยลุกขึ้น และเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง
เริ่มกันที่ ฝ้าย – นางสาวบุญธิดา ชินวงษ์ สาวน้อยผู้ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิตเจ้าของเพจใช้เท้าแต่งหน้า เล่าถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากให้ฟังว่า ตนเองพิการมาตั้งแต่กำเนิด แต่ถูกเลี้ยงมาอย่างปกติทั่วไป ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไร กลับคิดว่าควรใช้สิ่งที่เหลืออยู่ให้มีประโยชน์ จึงได้ลองแต่งหน้า โดยเริ่มอัดคลิปแต่งหน้า ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว และเริ่มกลายเป็นที่รู้จักมีคนเข้ามาให้กำลังใจ และเริ่มมีรายได้เป็นของตนเอง
“แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ทุกอย่างดูแย่ไปหมด ทำให้ขาดรายได้ และเกิดความเครียด เพราะจากที่เคยได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ และผู้คนมากมาย แต่ตอนนี้ต้องอยู่บ้านคนเดียว จึงหาวิธีคลายเครียด ด้วยการกลับมาไลฟ์สดแต่งหน้าอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกับแฟนคลับ ทำให้ได้พบเจอคนที่มีปัญหามากกว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งพอพวกเขาได้ดูคลิปเรา กลับทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และมีกำลังใจต่อสู้กับชีวิต จึงอยากส่งต่อพลังบวก ให้ทุกคนฮึดสู้ อย่าจมปักอยู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตทุกคนมีคุณค่า เพียงแต่เราต้องยอมรับ จึงจะสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไปได้” ฝ้าย บุญธิดา กล่าว
ต่อด้วย เชฟวรรณ – นายศรีวรรณ สุขสบาย อดีตเชฟภัตตาคาร หนึ่งในคนที่ถูกเลิกจ้างจากวิกฤต โควิด-19 เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำหน้าที่เชฟมาโดยตลอด ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะตกงาน เพราะลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ภัตตาคารส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน แน่นอนว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ทำให้ภัตตาคารต้องปิดกิจการชั่วคราว จนในที่สุดต้องถูกเลิกจ้าง เพราะทางร้านแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
“ตอนแรกรู้สึกเครียด เพราะต้องออกจากงาน บวกกับมีนิสัยที่ค่อนข้างขี้อาย แต่ก็มีภาระที่ต้องแบกรับเยอะ ทำให้คิดอยู่นาน เพราะถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรก็ไม่มีจะกิน จึงตัดสินใจซื้อรถเข็นและนำความรู้ความสามารถเรื่องการทำอาหารมาทำรถเข็นขายอาหาร โดยทำเองทั้งหมดตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบ จนถึงการลงมือทำ ซึ่งหลังจากที่เปิดร้านแล้ว มีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ทำให้รู้สึกหายเหนื่อย จนตอนนี้สามารถเปิดร้านเล็ก ๆ ได้ พอได้ลองมองย้อนกลับไป ถ้าตอนนั้นเรามัวแต่อาย อาจจะไม่มีวันนี้ เพราะฉะนั้นอย่าอายที่จะลงมือทำ แม้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน เพราะจะทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคได้ทุกสถานการณ์ แม้ในวันหน้าจะมีวิกฤตอื่น ๆ เข้ามาทดสอบเราอีก เราก็จะปรับตัว และรับมือได้ ” นายศรีวรรณ กล่าว
สำหรับ พล – นายนษพล แสงเงิน อดีตช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เล่าถึงผลกระทบของวิกฤต โควิด-19 ว่า ปกติทำอาชีพรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และติดตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในกรุงเทพฯ และทำการเกษตรแบบผสมผสานที่ต่างจังหวัด แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดขึ้น ทำให้ลูกค้าลดน้อยลง เพราะมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และลูกค้ามีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาด ทำให้สูญเสียรายได้เกือบหมด จึงคิดที่จะกลับมาทำสวนเกษตรต่อที่จังหวัดบ้านเกิด
“ผมมองว่า ชีวิตคนเราต้องมีการปรับตัว เพราะถ้าเกิดวิกฤตที่รุนแรงเช่นนี้ ต้องใช้เวลานาน กว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นแบบเดิม และเราไม่ชอบความเสี่ยง จึงหยุดทำงานที่กรุงเทพฯ และกลับมาสานต่องานทำสวนที่บ้าน ด้วยการใช้ความรู้ที่มีมาเป็นส่วนหนึ่งในการประดิษฐ์เล้าไก่จากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น เพื่อหารายได้ แต่ไม่ทิ้งงานช่าง เพราะยังรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในหมู่บ้านไปด้วย โดยหากเรายิ่งว่างงาน จะทำให้ยิ่งคิดมากและจมอยู่กับความเครียดนั้น สู้เอาความรู้และความสามารถที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์ดีกว่า ตอนแรกอาจจะลำบากหน่อยแต่มันจะดีขึ้น ขอเพียงแค่ใจสู้ เราก็จะผ่านมันไปได้” นายนษพล กล่าว
ปิดท้ายที่ เติร์ก – นายสิทธานต์ สงวนกุล เจ้าของร้าน Alonetogether Bangkok เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ก่อนหน้านี้เปิดบาร์แจ๊ส เพื่อให้คนที่หลงใหลในเสียงเพลงแจ๊ส ได้เข้ามาเพลิดเพลินกับเสียงดนตรี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ร้านต้องถูกปิดชั่วคราวจตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความเครียด เพราะไม่ได้มีแผนสำรองเตรียมไว้ และไม่รู้ว่าร้านจะถูกปิดอีกนานเท่าไหร่ ทำให้เป็นห่วงพนักงาน เพราะหลายคนมีภาระที่ต้องดูแล เลยคิดว่าจะทำยังไงต่อดี พอมองรอบตัวและพบว่า ภายในร้านมีทรัพยากร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดได้ จึงเกิดไอเดีย และทำคาเฟ่ขายกาแฟ และขนม ซึ่งทุกคนเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ร้านเดินหน้าต่อไปได้
“ช่วงแรกตอนเปิดร้านอาจจะมีติดขัดบ้างเล็กน้อย เพราะทุกคนต้องปรับตัว เปลี่ยนสไตล์การทำงาน จากที่ต้องเข้างานกลางคืน ต้องเปลี่ยนมาทำกลางวันแทน ซึ่งพอเปิดร้านมาสักพัก มีคนเริ่มรู้จักมากขึ้นทำให้มีรายได้เข้ามา และถ้าหากไม่เกิดวิกฤตนี้ ผมก็ไม่เคยมีความคิดว่าจะทำร้านกาแฟนี้ขึ้นมาเลย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราต้องยอมรับมัน อะไรที่ผ่านไปแล้วให้ผ่านไป พยายามมองหาทรัพยากรที่มีอยู่และนำมาต่อยอด ซึ่งจะทำให้เราสามารถเอาตัวรอด และผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้” นายสิทธานต์ กล่าวทิ้งท้าย
ในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ขอเพียงแค่ทุกคนมีสติ พร้อมกล้าที่จะปรับตัว เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า อย่างไม่ท้อแท้ และขอให้เชื่อว่า “ถ้ายังไม่สูญเสียลมหายใจ ยังไงคุณก็จะรอด”
#จดหมายจากปลายเท้า #เชื่อมั่นในคุณค่าของคน #มูลนิธิเอสซีจี