วันที่ 8 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ในด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจ และการเตรียมความพร้อม ให้แก่นักวิจัย ผู้บริหาร และผู้ประสานงานของหน่วยวิจัย ในการจัดเตรียมข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2568 โดย วช. มีความมุ่งหมายให้การส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ เป็นการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งปัจจัยเชิงบวก ปัจจัยเชิงลบ ความต้องการของผู้บริโภค ราคาสินค้า การบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์และประมงที่มีการเฝ้าระวังโรคระบาดที่เหมาะสม จากภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ปัจจัยเชิงลบ ปัญหาการระบาดของโรค เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ภายใต้แผนการดำเนินงานภายใต้แผน ววน. ด้านสัตว์เศรษฐกิจแผนการพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหทรัพยากรธรรมชาติด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินรวมทั้งยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ แผนพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม ต้นแบบและระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ แผนงานเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันสามารถพึ่งพาตนเองได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาประเทศยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
พร้อมนี้ วช. ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสัตว์เศรษฐกิจ ประจำปีงบประมาณ 2568” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนา ในประเด็น “วช. ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยทรัพยากรท้องถิ่น และผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
-รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประเด็น “กรอบการวิจัยและนวัตกรรม แผนงานการพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัย”
-ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประเด็น “กรอบการวิจัยและนวัตกรรม แผนการวิจัยและนวัตกรรม
เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์เศรษฐกิจ ประจำปีงบประมาณ 2568 และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ วช. ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที
และมีการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย คุณสุชัช ศุภวัฒนาเจริญ ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ วช.
ในช่วงบ่าย มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ
สู่การนำไปใช้ประโยชน์ โดย
-รศ.ดร.ภญ.วรรธิดา ชัยญาณะ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็น “จิ้งหรีด: ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพและความงาม”
-รศ.ดร.ณัชวิชญ์ ติกุล จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเด็น “เกษตรกรสู้โรคและโลกร้อน: โรงเรือนแพะเนื้อ”
-ดร.ศิวพร แพงคำ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประเด็น “ห้องเรียนวิชาการแพะ: นวัตกรรมวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงแพะแบบครบวงจร”
-ผศ.ดร.สนธยา กูลกัลยา จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ประเด็น “แนวทางการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ สู่การนำไปใช้ประโยชน์โดยชุมชนประมงชายฝั่งภาคตะวันออก: กรณีศึกษาธนาคารปูม้า”
จากการถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้ง 4 ประเด็น ทั้งนี้ วิทยากรได้นำเสนอให้เห็นกระบวนการดำเนินงาน และการวางแผนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่เป้าหมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการยื่นเสนอขอรับทุน
ทั้งนี้ NRCT Open House 2024 : การชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ วช. ระหว่างวันที่ 1 – 9 มิถุนายน 2567 ในรูปแบบ Onsite และ Online ผ่าน (Video conference)
ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทาง Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเหลือเวลาการจัดอีก 1 วัน ในประเด็น ด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567)