เปิดตัว Asia Environment Network  ในงานประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

0
1744

การประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สถาบันโลกร้อนศึกษาโดยมูลนิธินภามิตร สำนักงานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาโลก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรหลักอย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และองค์กรไทยทั้งภาครัฐและเอกชนที่นที่ได้ให้การสนับสนุน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรีจำกัด (มหาชน) บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท็อปกัน จำกัด ภายใต้การอำนวยการจัดงานประชุมโดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นเนล อีเว้นท์ จำกัด

ที่สำคัญไปกว่านั้น งานประชุมครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก World Environmental Education Congress Network จากประเทศอิตาลี ที่เป็นกำลังหลักสำคัญที่สร้างการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้ หน่วยงาน และองค์กรที่เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก อาทิ UNEP, UNFCCC, UNESCO และ UNOSSC และสื่อมวลชนจากต่างประเทศ เช่น Young Reporter จากประเทศตุรกีได้เข้ามามีส่วนร่วมในความสำเร็จของงานการประชุมในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งผลจากการผนึกกำลังของหลายภาคส่วนทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศนี้ทำให้ภายหลังจากการประชุม ประเทศไทยก็ได้เปิดตัว Asia Environment Network เพื่อสร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 เปิดเผยว่า งานประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 ได้ดำเนินมาถึงบทสรุปของการประชุมซึ่งตัวแทนแต่ละ Theme หลักของงานได้มีการสรุปผลการประชุมภายใต้หัวข้อหลักของงานการประชุมในครั้งนี้คือ Local Knowledge, Communication และ Global Connectivity โดยในส่วนของ Global Connectivity ตัวแทนจาก United Nations Environment Programme (UNEP) Ms.Ana Vukoje, Programme Specialist Environment under review, Asia and the Pacific Office ได้กล่าวถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเพื่อให้เกิดการกระทำในขณะนี้ ภาคส่วนที่สำคัญ อย่างเช่น Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) และ Intergovernmental Science- Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) กำลังเร่งดำเนินการในการให้ความรู้และทำให้ผู้คนเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมมีผลมากน้อยแค่ไหนกับการใช้ชีวิต และการอยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งในปีนี้ UNEP ได้มีการเปิดตัวหนังสือชุดชื่อว่า GEO outlook series ซึ่งเล่มแรกตีพิมพ์ในปี 1997 และในปัจจุบัน GEO outlook series ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 6 เล่ม รวมผู้เขียนมากถึง 146 ท่าน จุดประสงค์หลักในการออกหนังสือชุดนี้เพื่อการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของภาครัฐที่สามารถดำเนินการและนำพาโลกไปสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงเรื่องการปฏิบัติ และการลงมือทำอย่างแท้จริงของทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่โลกและผู้คนบนโลกนี้ ในทิศทางเดียว

ดร.สุรัตน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ Prof. Ronghuai Huang, UNESCO INRULED ตัวแทนในหัวข้อ Communication ได้มีการเน้นย้ำว่าการสื่อสารอย่างทั่วถึงและกว้างขวางนั้นเป็นหัวใจหลักสำคัญของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลในวัย หรือระดับใดก็ตาม การทำให้ทุกคนได้รับสาร และเข้าใจในเรื่องเดียวกันอย่างถ่องแท้จะทำให้เกิดความร่วมมือ และการกระทำอย่างเต็มใจและยั่งยืน และในส่วนของไฮไลท์สำคัญของผลสรุปการประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นในหัวข้อ Local Knowledge โดยผลการประชุมจากงานการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 นี้คือการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือที่ชื่อว่า Asia Environment Network ซึ่งได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้สนับสนุนหลักของการสร้าง Asia Environment Network ของไทยในครั้งนี้คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ซี อาเซียน

ดร.สุรัตน์กล่าวว่า เครือข่ายดังกล่าวจะถูกสร้างและพัฒนาในรูปแบบ Digital Platform ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานทางวิชาการ ความรู้ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในเอเชีย จุดประสงค์หลักของการสร้างเครือข่าย AEN ในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างสังคมที่มีความมุ่งมั่นพัฒนา สร้างความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันในภูมิภาคเอเชียเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุดอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นเสมือนดังเวทีในการแสดงผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อนำองค์ความรู้ที่มีประโยชน์มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่มีคุณภาพที่สุด

สำหรับการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 11 จะจัดขึ้นที่เมืองปราก (Prague) เมืองหลวงของสาธารณรัฐ เช็ก (Czech หรือ Czechia)