ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอายุยืนยาวแค่ไหนคงไม่สำคัญเท่าการมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความสุขในทุกวันของชีวิต และเนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อเตือนใจให้ลูกหลานและคนใกล้ชิดเอาใจใส่ดูแลคนสำคัญในบ้าน ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ หากชีวิตต้องมาสะดุดด้วยอาการป่วยจากโรคเบาหวาน ไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ตัวโรคอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ดังนั้น การคุมโรคให้ดีและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ
พญ.รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า คนเราเมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมในระบบต่างๆ ของร่างกายย่อมตามมา การเผาผลาญลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีในผู้สูงวัย จะส่งผลให้ร่างกายเสื่อมถอยได้มากกว่าผู้สูงวัยที่ไม่เป็นโรค เช่น การได้ยินลดลง เกิดโรคต้อหิน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงส่งผลต่อสมอง ทำให้การรับรู้ ความเข้าใจ และความจำลดลง
ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานมีการพัฒนาทั้งตัวยาและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการรักษา ทำให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลรักษาโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ช่วยลดการเสื่อมถอยและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน การรักษาควรเริ่มต้นจากการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน ลูกหลานและคนดูแล รวมถึงแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ มีการกำหนดเป้าหมายในการคุมเบาหวานว่าต้องเข้มงวดมากแค่ไหน ตรวจค่าน้ำตาลสะสม อาหารที่เหมาะสมในการรับประทานควรเป็นอย่างไร ตลอดจนการทำแบบประเมินการรับรู้เข้าใจของสมองและภาวะจิตใจของคนไข้ การประเมินการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งผู้สูงวัยแต่ละคน แต่ละครอบครัว มีสุขภาพและรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันการวางแผนการรักษาจึงแตกต่างกัน
การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย สิ่งที่ควรระวังให้มากคือ 1)ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เพราะภาวะน้ำตาลต่ำจะมีผลกระทบทันทีต่อการรับรู้ของสมองและหัวใจ แต่ในกรณีที่หากเกิดขึ้นแล้วควรดูแลแก้ไขให้ทันท่วงที โดยคนไข้ควรรีบรับประทานแป้งหรือน้ำตาล หลังจากนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม 2)เลือกใช้ยาที่ลดโอกาสทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำเป็นอันดับแรก หากคุมไม่ได้ค่อยปรับยาที่ช่วยลดน้ำตาลได้มากหรือฉีดยาอินซูลิน 3) การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย นอกจากต้องคอยดูระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ต้องควบคุมรักษาโรคร่วมอื่นๆ ให้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เป็นต้น รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อ
ทั้งนี้ โรคเบาหวานในผู้สูงวัยมีความแตกต่างกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อายุน้อย การจะรักษาโรคเบาหวานให้ได้ผลดีจึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในครอบครัวและคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้ ทั้งการเลี่ยงอาหารรสหวาน เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ไขมันต่ำ ที่สำคัญคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 02-755-1129 02-755-1130 แอดไลน์ : @bangkokhospital