เตือนผู้ใช้รถใช้ถนน !!!…หากนำรถที่ไม่มี ประกันภัย พ.ร.บ.มาใช้  มีความผิดตามกฎหมาย ที่สำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุ “ผู้ประสบเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย”

0
1472

ในแต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูล www.thairsc.com ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน พบว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา

  • มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวนมากกว่า 13,000 ราย   
  • มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากกว่า 800,000 คน 

    โดยจากข้อมูลผู้ประสบภัยที่มาใช้สิทธิเบิกประกันภัย พ.ร.บ. ที่บริษัทกลางฯ ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประสบภัย จากรถที่ทำประกันภัย พ.ร.บ.เพียง ร้อยละ 71 เท่านั้น และได้รับการคุ้มครองเยียวยาตามกฎหมายจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  แต่ยังมีผู้ประสบภัยจากรถ ที่เจ้าของรถไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. อีกจำนวนถึง ร้อยละ 29 ทำให้ผู้ประสบภัยจากรถไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่ได้รับสิทธิที่พึงได้รับตามที่กฏหมายกำหนด เกิดความเดือนร้อนที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่ได้รับเงินมาช่วยเหลือตามกฎหมาย อีกทั้งผู้ประสบภัยต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของรถ/ผู้ขับขี่คันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุด้วยตนเอง   

ดังนั้นการทำประกันภัย พ.ร.บ. ถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญของเจ้าของรถ และต้องทำเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่ประสบเหตุทุกคนจะได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันที 

หากรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุไม่มีการทำประกันภัย ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย 

เจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อหากไม่ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษ ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท รวมถึง ผู้ใดที่นำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.มาใช้ ก็จะมีโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาทด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเจ้าของรถแล้วไม่ทำประกันภัยพ.ร.บ.และยังนำรถที่ไม่มีประกันภัยนี้ไปใช้จะมีความผิด ทั้ง 2 กระทงความผิด  รวมโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท

    ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน 

เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน และผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย 

  • กรณี บาดเจ็บ คุ้มครอง เป็นค่ารักษาพยาบาลสูงสุดตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท
  • กรณี เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร  คุ้มครอง 500,000 บาทต่อคน
  • กรณี สูญเสียอวัยวะ คุ้มครองตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี
  • กรณี นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) คุ้มครองเป็นค่าชดเชย วันละ 200 บาท  สูงสุดไม่เกิน 20 วัน

ความคุ้มครอง ผู้ขับขี่ รถคันที่เอาประกันภัย จะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

  • กรณี บาดเจ็บ คุ้มครอง เป็นค่ารักษาพยาบาลสูงสุดตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณี เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร/สูญเสียอวัยวะ   คุ้มครอง 35,000 บาทต่อคน
  • หากผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายถูก  สามารถไปเรียกร้องจากฝ่ายที่ต้องรับผิดได้

ขั้นตอนการขอรับสิทธินั้นผู้ประสบภัยสามารถติดต่อใช้สิทธิได้ที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถของตนเองหรือที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่มีสาขาให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่บริษัทกลางฯ Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.rvp.co.th