‘อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์’ ผนึกกำลังพันธมิตร เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก

0
1275

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ผนึกกำลังพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกตาม Thailand NDC Roadmap พร้อมชู ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ ช่วยลดโลกร้อน

เทรนด์โลกเทรนด์ไทยโฟกัสเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันนานาประเทศมีการตื่นตัวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)มีการกำหนดแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโลกร้อน (Global Warming) และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น สหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ความตกลงปารีส พร้อมตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 

จีนให้คำมั่นมุ่งสู่ Net Zero Target ในปี 2603 สหภาพยุโรปบัญญัติเป็นกฏหมาย EU Green Deal มุ่งสู่ Carbon Neutral ในปี 2593 เกาหลีใต้ประกาศนโยบาย Green New Deal มุ่งสู่ Net Zero Target ในปี 2593 เป็นต้น

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 รวมถึง Thailand NDC Roadmap เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
ในสาขาต่างๆ  เช่น  สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ถูกกำหนดเป็นมาตรการดำเนินการหลัก เนื่องจากมีศักยภาพสูงที่จะลดก๊าซเรือนกระจก จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ที่ลด CO2

ผนึกกำลังพันธมิตรเดินหน้าสู่เป้าหมาย

ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกร และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง 16 พันธมิตรภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ขับเคลื่อนตาม Thailand NDC Roadmap ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ดให้ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตันCO2 ในปี 2565 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสนับสนุนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกฏระเบียบ
ที่เกี่ยวข้อง  การสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมใช้งาน ตลอดจนการรายงานผลและการทวนสอบ 

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวย้ำว่า “TCMA พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมาย 300,000 ตันCO2 ในปี 2565 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต มีการวิจัยพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ปัจจุบันมี “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” มอก. 2594 ได้รับการรับรองสินค้า Made in Thailand และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 10,000 ตัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 520 ตันCO2 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 61,000 ต้น เลยทีเดียว ซึ่งหากมีการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”