อะไรก็มีหลายรสเนาะ IBERD ลงนาม MOC กับ JPHRI ญี่ปุ่น ส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพ พัฒนาธุรกิจน้ำพุร้อน สร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วย Wellness Tourism สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

0
79

สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สถาบัน Japan Health Research Institute (JPHRI) ของประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีขอบเขตความร่วมมือมุ่งเน้นประโยชน์จากการศึกษาแลกเปลี่ยนงานวิจัย งานวิชาการ และกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำพุร้อน ให้เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในแหล่งน้ำพุร้อนของไทย รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (Wellness Tourism)

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (Institute of Business Economics Research and development: IBERD) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Mr.Noritsugu Kato President สถาบัน Japan Health Research Institute (JPHRI) ของประเทศญี่ปุ่น โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตประธานที่ปรึกษามูลนิธิสถาบัน IBERD ให้เกียรติเป็นสักขีพยานการลงนาม ณ ห้องประชุม อาคาร 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต โดย ดร.สถิตย์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือกับ JPHRI ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมืองานวิจัยนวัตกรรม ด้านสุขภาพ (Health and wellness)ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น โดยร่วมมือสนับสนุนกับสโมสรน้ำพุร้อนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน

วัตถุประสงค์หลักคือ การแลกเปลี่ยนงานด้านวิชาการ และประสบการณ์การดำเนินงานทางด้านการพัฒนาโครงการน้ำพุร้อน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 โครงการความร่วมมือนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างความร่วมมือ การศึกษาวิจัยนวัตกรรมร่วมกัน การยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและสุขภาวะ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร ได้แก่ ธุรกิจออนเซนน้ำพุร้อนธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยระบบออนเซนน้ำพุร้อน (Onsen Hot Sping Wellness Tourism Industry) การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพและสุขภาวะที่สำคัญร่วมกัน ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถ

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามครั้งนี้ จะริเริ่มโครงการสำคัญ พัฒนาออนเซนน้ำพุร้อนธรรมชาติ อาทิ การจัดตั้ง “เมืองพี่เมืองน้องออนเซนน้ำพุร้อนไทย – ญี่ปุ่น” สำหรับพัฒนาและสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ ออนเซนน้ำพุร้อนสาธารณะ (Public Bath) ด้วยความร่วมมืองานวิจัยนวัตกรรมระหว่างญี่ปุ่นและไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ลำดับแรกคือ เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ส่งเสริมสุขภาพด้วย ออนเซน น้ำพุร้อน ให้กับชุมชนแหล่งน้ำพุร้อน ทั่วประเทศไทย โดยประสานและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากชุมชน ทั้งไทย-ญี่ปุ่น อาทิเช่น โครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ออนเซนน้ำพุร้อน ร่วมกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารไทย นวดแผนไทย และการฝึกสมาธิบำบัด SKT การฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านออนเซน ตลอดจนการทำวิจัยการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)ระดับโลก

เราจะเห็นว่า การแช่น้ำพุร้อน หรือ “ออนเซน” เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติของญี่ปุ่น และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องไปสัมผัสเมื่อไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยหลายล้านคนต่อปี ทำให้ความนิยมนี้แพร่หลายออกไปนอกญี่ปุ่นด้วย สอดคล้องกับ ข้อมูลของสถาบันสุขภาพสากล (Global Wellness Institute) ที่คาดการณ์ภาพรวมอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ Wellness Economy ของโลก ระหว่างปี 2563 – 2568 ว่าอุตสาหกรรมน้ำพุร้อนมีอัตราการเติบโตสูงถึง ร้อยละ 18.1 เป็นอันดับ 2 รองจาก Wellness Tourism ที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 20.9

โดยเมื่อปี 2563 มีการสำรวจเม็ดเงินในธุรกิจบ่อน้ำร้อนทั่วโลก พบว่า มีมูลค่าประมาณ 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 8.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนประมาณ 130 แห่ง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีแหล่งน้ำพุร้อนกระจายตัวอยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ประมาณ 30,000 แห่ง ภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนที่นำโดยสโมสรน้ำพุร้อนไทย มีความพยายามที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของธุรกิจน้ำพุร้อนไปสู่ระดับสากลโดยยึดแนวทางของญี่ปุ่น ประกอบกับประเทศไทยตระหนักถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่าง IBERD และ JPHRI ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งของประเทศไทยและญี่ปุ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแนวโน้มสุขภาพระดับสากล