

วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ระหว่างธนาคารออมสิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM

โดยมี นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ลงนามการร่วมทุนดังกล่าว พร้อมด้วยนายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานกรรมการธนาคารออมสิน และนางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และประชาชนจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จนกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) รัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนลดภาระหนี้และประกาศเป็นนโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (Joint Venture Asset Management Company : JV AMC) เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยเพิ่มความคล่องตัวให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถโอนหนี้บางส่วนของ SFIs ไปยังบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้โดยเฉพาะ ธนาคารออมสินจึงได้ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC มีวัตถุประสงค์หลักเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมให้มีเสถียรภาพและช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากัน ที่ร้อยละ 50 และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของ SFIs อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM ดำรงบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน และบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา จนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้ได้ข้อยุติมากกว่า 155,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 480,000 ล้านบาท และยังสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปกว่า 52,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 122,000 ล้านบาท

จากการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหารจัดการนั้น BAM ตระหนักดีว่ายังมีแนวทางอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา NPLs และ NPA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นที่มาของความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน และ BAM ในวันนี้ โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวคือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง BAM จะให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุนโดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน

ทั้งสององค์กรมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยจะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ อย่างดีที่สุด มุ่งมั่นช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เสียได้รับการแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป และทำให้ BAM ดำรงบทบาทหลักในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ขององค์กร

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า BAM เชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมทั้งในด้านประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ตลอดจนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการลูกค้าในทุกช่องทางอย่างครบวงจร และการมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ จะช่วยให้ความร่วมมือในการผลักดันการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนลุล่วงไปได้ด้วยดี อีกทั้งทำให้บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้น สามารถตอบโจทย์การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยที่ยังสามารถบริหารจัดการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ช่วยแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจและนโยบายของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ