ธนาคารออมสิน สนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ร่วมขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐสร้างไทยพื้นที่ภาคกลาง จัดเสวนาใหญ่ เพื่อระดมสมองภาคเอกชน-ภาคประชาชนร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ ออมสินนำยุทธศาสตร์ 3 สร้าง “สร้างความรู้/สร้างอาชีพ, สร้างตลาด/สร้างรายได้ และสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน” หนุนพัฒนาอาชีพและการเข้าถึงแหล่งทุน สร้างความเป็นอยู่ที่ดี นำหลุดพ้นความยากจน เตรียมต่อยอดปี 2563 เปิดธนาคารเพื่อสังคมเต้มรูปแบบ “ศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก” บริการธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
วันนี้ (10 ธันวาคม 2562) ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในงาน “เศรษฐกิจฐานราก พลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเข้าถึงแบบครบวงจร เพื่อให้คนไทยตลอดจนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหลุดพ้นความยากจน พร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน” โดยมี ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก SMEs และ Start up เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน รวมถึงภาคีเครือข่ายฐานราก ชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน ที่ร่วมระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “เศรษฐกิจฐานราก อนาคตไทย อนาคตเรา”
ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารออมสินได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวด้วยการจัดงาน “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และ ครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคตะวันตกที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อหาแนวทางร่วมกันที่จะพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งปรากฏว่าเกิดกระแสความตื่นตัวในการดำเนินตามกระบวนการที่ได้ร่วมกันเสนอแนวทางไว้
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทยที่รัฐบาลได้วางรากฐานและดำเนินการมาต่อเนื่อง นับว่าเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาสงครามการค้า และ Disruption ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการทั้งระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการเงินให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจน ธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ มีแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐดังกล่าว โดยใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ความยั่งยืน ผ่าน Social Banking หรือศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารออมสิน ด้วยกลไก 3 สร้าง คือ 1.สร้างความรู้/สร้างอาชีพ 2.สร้างตลาด/สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยในระดับฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เข้าถึงความรู้ในอาชีพการพัฒนาอาชีพ ได้ฝึกฝนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ โดยกลไก 3 สร้างดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางประชารัฐผ่านโครงการออมสินสร้างสุขสู่ชุมชนเมืองที่ได้นำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และกาญจนบุรี ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ ได้เตรียมแผนสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ด้วยการปรับรูปแบบสาขาและบทบาทพนักงานเพื่อรองรับการดำเนินงานเป็นธนาคารเพื่อสังคม มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ในชื่อ “ศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารออมสิน” ซึ่งจะมีจำนวน 100 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีบริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือน บริการศูนย์พัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยประชาชน ช่างประชารัฐ ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ มีจุดให้คำปรึกษา/แก้ไขหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน เปิดพื้นที่ให้ลูกค้าในชุมชนได้แสดงสินค้า มีศูนย์รักษาพยาบาล และมีศูนย์กลางบริการทางการเงิน : Financial Logistic Center ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกรูปแบบโดยเน้นบริการทางการเงินเพื่อสังคมและประชาชนฐานราก เช่น สลากออมสิน, MyMo Pay, GSB Pay, บัตรเดบิตคุ้มครองชีวิต/คุ้มครองอุบัติเหตุ GSB Smart Care/GSB Smart Life, ธนาคารประชาชน, สินเชื่อสตรีทฟู้ด, สินเชื่อโฮมสเตย์, สินเชื่อธุรกิจเฟรนไชส์ และสินเชื่อ QR รายวัน นอกจากนี้ ยังมีบริการธนาคารเพื่อผู้สุงอายุ ธนาคารพระพุทธศาสนา และการสนับสนุนการพัฒนา SMEs และ SMEs Start up อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยด้วยการให้เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลไกกระตุ้นนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันผลักดัน โดยกลไก 3 สร้างอย่างต่อเนื่อง คือ 1.สร้างความรู้/สร้างอาชีพ 2.สร้างตลาด/สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยจะต้องมีการสร้างนวัตกรรมให้ชุมชน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน ซึ่งอาจมีปราชญ์ชาวบ้านจุดประเด็นองค์ความรู้ของชุมชนเพื่อให้เกิดการระดมความเห็น เมื่อปฏิบัติแล้วสำเร็จจึงสนับสนุนไปสู่ชุมชนต้นแบบ หลังจากนั้นมีการติดตามประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบนั้น ธนาคารฯ ได้เตรียมสินเชื่อประชารัฐสร้างไทยธนาคารประชาชน 5..5..5 วงเงินโครงการ 2,500 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ได้นำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยผู้กู้สามารถใช้บุคคล หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.50% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะผ่อนชำระเกิน 5 ปี (60 งวด) ซึ่งเป็นแคมเปญที่สนองนโยบายรัฐเพื่อให้ลูกค้าฐานรากสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน (รายบุคคล) สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ เพื่อเป็นเงินลงทุนในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการโฮมสเตย์ไทย ปรับปรุง หรือขยายกิจกรรมที่ทำอยู่เดิม ลงทุนในกิจกรรมเพื่อการผลิต การค้า หรือการบริการ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถใช้บุคคล หลักทรัพย์ หรือ บสย. ค้ำประกันก็ได้ ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-7 ปี อัตราดอกเบี้ยมี 2 แบบ หากใช้บุคคลหรือบสย.ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อเดือน (Flat Rate) และใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย MRR+1.50% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.745% ต่อปี)
“ธนาคารออมสิน เชื่อมั่นว่า ด้วยการผลักดันนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ร่วมกับการประสานพลังประชารัฐของทุกภาคส่วน และภาคีเครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนานี้ประสบความสำเร็จสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดี มีความสุข เพื่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะขยายผลประชารัฐสร้างไทยไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว