วันนี้ (25 พฤษภาคม 2563) ณ ห้องวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด–19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยา ฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนความสุขให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพื่อเติมความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัด และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วมในพิธี
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดกรอบและแนวทางไว้ โดยได้ออกมาตรการดูแลเป็นการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นลูกค้าและประชาชนทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดบอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรการให้เงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท และ 50,000 บาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน น็อนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน การลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนที่ขอทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และล่าสุด ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ลงทะเบียนในมาตรการลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยรายได้จากประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกด้วย
“ช่วง 1-2 เดือนนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้มาติดต่อที่สาขาธนาคารออมสินเป็นจำนวนมาก หลายสาขามีคนเข้าแถวรอจนล้นออกมานอกสาขาเป็นคิวยาวมาก ท่ามกลางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารฯ ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนการรับรองลูกค้าและการดูแลความพร้อมของพนักงาน โดยหลายธุรกรรมได้แนะนำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินรายย่อย ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ” ดร.ชาติชาย กล่าว
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ ได้แก่
1.การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท
2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 10,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2,663,197 ราย และได้ส่งข้อความSMS นัดให้มายื่นเอกสารแล้ว 1,969,739 ราย โดยได้ดำเนินการอนุมัติไปแล้ว 310,006 ราย คิดเป็นวงเงิน 7,527.16 ล้านบาท โดยปริมาณงานในส่วนนี้มีมากกว่างานปกติถึง 10 เท่าตัว ซึ่งธนาคารฯ ได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลัง และทำทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563
3.เงินกู้ซอฟท์โลน 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12,352 ราย วงเงินรวม 131,976.81 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44,757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด
ล่าสุดธนาคารออมสินได้อนุมัติซอฟท์โลน อีก 2,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ดร.ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยแนวคิด “คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ผ่าน 4 กระบวนการ คือ 1. เยียวยา ดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 – 100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนขำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป ขณะเดียวกันได้ตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง “เราไม่ทิ้งกัน” บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์/สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวดเร็วธนาคารออมสิน ยินดีดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่เดินเข้ามาหาเรา ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปให้ได้
กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ ธนาคารฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด “ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน” ทั่วประเทศ ขณะที่ กระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯ ได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ “ตู้คลังออมสินปันสุข” ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม “ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน” สำหรับกระบวนการสุดท้าย กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว
“ปัจจุบัน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตได้เป็นปกติให้มากที่สุดภายใต้หลักเกณฑ์ควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้เร่งออกมาตรการฟื้นฟูฯ ออกมาควบคู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าหากต้องการความช่วยเหลือ จะได้รับอย่างแน่นอน โดยธนาคารออมสินยินดีดูแลผู้ต้องการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยมุ่งหวังให้สามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติตามสถานการณ์โดยเร็วและเหมาะสม” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.