อว.โดย วช. ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ มอบรางวัลนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ Commu Max Competition แก่หน่วยงานภาครัฐสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ดีเด่น

0
55

วันที่ 1 เมษายน 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมมอบรางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ Commu Max Competition ภายใต้โครงการต่อยอดแซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐ (ระยะที่ 2)

โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดี แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานและนำเสนอความสำเร็จของโครงการฯ พร้อมด้วย คุณกมลวรรณ ตรีพงศ์ วิทยากรหลักสูตร Commu Max Competition


ในโอกาสนี้ ผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ กระทรวง อว. มีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ในพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ Commu Max Competition และขอใช้โอกาสนี้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมทุก ๆ หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

ซึ่งการที่สามารถพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด จะสามารถสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี และผลงานที่ท่านได้นำเสนอ รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จะเป็นสิ่งยืนยันและสะท้อนให้เห็น ถึงศักยภาพอันโดดเด่นของหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร ผลงานของท่านจะเป็นประจักษ์พยานถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท และความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเลิศ ในการพัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการสื่อสารที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ

กล่าวว่า โครงการต่อยอดแซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐ (ระยะที่ 2) เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากความสำเร็จของโครงการในระยะแรก โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับขีดความสามารถด้านการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่นวัตกรรมการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สานต่อความสำเร็จจากระยะแรก ด้วยความร่วมมือจาก 98 หน่วยงานภาครัฐ ขยายโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสารเชิงนโยบายผ่านแพลตฟอร์ม E-Learning และการอบรมเชิงปฏิบัติการ Masterclass Workshop ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจาก 52 หน่วยงาน และมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ การประกวด Commu Max Competition ที่เปิดรับผลงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 142 ผลงาน โดยวันนี้จะมีพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่น 6 ประเภท ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และหวังว่าความสำเร็จนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาการสื่อสารเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ผลการประกวด Commu Max Competition ได้แก่

  • รางวัลการสื่อสารผลงานวิจัยดีเด่น
    ชนะเลิศ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
    รองชนะเลิศอันดับ 1: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
    ชมเชย: มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • รางวัลนวัตกรรมการสื่อสารผสมผสานการจัดการมรดกวัฒนธรรมไทยดีเด่น
    ชนะเลิศ: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    รองชนะเลิศอันดับ 1: ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
    รองชนะเลิศอันดับ 2: การรถไฟแห่งประเทศไทย
  • รางวัลหน่วยงานการสื่อสารดีเด่นของภาครัฐส่วนภูมิภาค
    ชนะเลิศ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง
    รองชนะเลิศอันดับ 1: องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี
  • รางวัลหน่วยงานความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น
    ชนะเลิศ: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    รองชนะเลิศอันดับ 1: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
    รองชนะเลิศอันดับ 2: มหาวิทยาลัยศิลปากร, กระทรวงพลังงาน
    ชมเชย: กรมการพัฒนาชุมชน
  • รางวัลการสร้างการรับรู้ดีเด่น
    ชนะเลิศ: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
    รองชนะเลิศอันดับ 1: กรมทรัพย์สินทางปัญญา
    รองชนะเลิศอันดับ 2: กรมวิทยาศาสตร์บริการ
    ชมเชย: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, กรมการพัฒนาชุมชน, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  • รางวัลการสร้างการเข้าถึงดีเด่น
    ชนะเลิศ: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
    รองชนะเลิศอันดับ 1: สถาบันพระปกเกล้า
    รองชนะเลิศอันดับ 2: กระทรวงแรงงาน
    ชมเชย: คณะกรรมาธิการการปกครอง, กรมสุขภาพจิต, กรมทรัพย์สินทางปัญญา

วช. และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และหวังว่าความสำเร็จในวันนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด การพัฒนาการสื่อสารเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมสานต่อความร่วมมือเพื่อยกระดับการสื่อสารภาครัฐให้มีคุณภาพ ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในอนาคต