อว.วศ. ห่วงใยคนกรุงฯ เก็บน้ำประปาตรวจพิสูจน์พบเกินมาตรฐานแนะวิธีกำจัดความเค็มเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

0
1420

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่า คนกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลประสบภาวะน้ำประปาเค็ม สร้างความกังวลให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องบริโภคน้ำประปาโดยไม่ผ่านเครื่องกรองน้ำ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นสาเหตุของน้ำประปาเค็มเกิดจากสภาวะภัยแล้งและมวลน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติทำให้น้ำเค็มขึ้นมาถึงจุดรับน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาส่งผลให้แหล่งน้ำผลิตประปามีความเค็มเกินมาตรฐาน

โดย วศ. ได้ทดลองเก็บตัวอย่างน้ำประปาภายในกรมฯ มาตรวจหาปริมาณคลอไรด์ เมื่อวันที่ 3 และ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีค่าคลอไรด์เท่ากับ 345 และ 271 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานที่กำหนดของน้ำบริโภคจะต้องมีค่าคลอไรด์สูงสุดไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งโทษของการบริโภคน้ำเค็มนั้นไม่มีอันตรายต่อคนทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราได้รับคลอไรด์จากการรับประทานอาหารมากกว่าในน้ำดื่มแต่จะมีผลกระทบเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคทางสมอง

พร้อมกันนี้ วศ. ได้แนะนำวิธีกำจัดความเค็มจากน้ำประปา ซึ่งประกอบด้วย 3 วิธี คือ

1. การกลั่น (Distillation) สามารถกำจัดทั้งคลอไรด์และของแข็งที่ละลายน้ำได้

2. การกรองด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการใช้แรงดันน้ำผ่าน membrane ระบบ RO นี้ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากน้ำโดยเฉพาะสารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น โซเดียมไอออนและคลอไรด์ไอออน

3. Deionization หรือขบวนการขจัดไอออน สามารถกำจัดคลอไรด์โดยการดูดซับด้วย anion-exchange resin ซึ่งสามารถดูดซับแอนไอออนตัวอื่นได้ด้วย เช่น ซัลเฟต ถ้ามีซัลเฟตในน้ำตัวดูดซับจะจับกับซัลเฟตได้ดีกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับคลอไรด์ลดลง การต้ม (Boiling) การดูดซับด้วยคาร์บอน (Carbon Adsorption Filters) และ Water Softener ไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ได้

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถติดตามรายงานคุณภาพน้ำประปารายวันในพื้นที่ กทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ของการประปานครหลวงได้เพื่อเตรียมสำรองน้ำสำหรับดื่มไว้ล่วงหน้า เพราะในช่วงเวลาของแต่ละวันความเค็มของน้ำจะแตกต่างกัน หรือส่งมาทดสอบได้ที่ วศ. เพื่อทดสอบหาปริมาณคลอไรด์ในน้ำ นอกจากนี้ยังให้บริการทดสอบน้ำอุปโภคบริโภคตามมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานน้ำบริโภค (มอก.257) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท (สธ.ฉบับที่ 61 และ 135) เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ เป็นต้น