อว. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า สถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ภายใต้โครงการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)

0
182

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำทีมโดย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล พร้อมคณะตรวจเยี่ยมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)  เป็นการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ของสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เยี่ยมชมโครงการการ“ศูนย์ทดสอบดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index Center; GIC)” และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เยี่ยมชมโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน เพื่อรับฟังปัญหาเพื่อรับฟังผลการดำเนินโครงการ ฯ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ ฯ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 

รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล กล่าวว่า ทิศทางแนวนโยบายด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นการพัฒนาปรับปรุงระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยแบบองค์รวม ทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา  ทั้ง การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะอาจารย์ สามารถตอบสนองต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 มุ่งหวังยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติโดยมหาวิทยาลัยจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมีความถนัดและเชี่ยวชาญ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ 

มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นและมีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในมิติของความยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ สิ่งนี้เป็นการสะท้อนการทำงานของโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป ทางโครงการจะให้การสนับสนุนเรื่องของงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากจะมีกองทุนเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาเข้ามาช่วยในโครงการนี้ แต่ขอให้การทำงานต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกมหาวิทยาลัย

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพัฒนาและส่งเสริมอุดมศึกษาถือเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ผ่านการทําวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีศักยภาพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถเชิงการแข่งขันของประเทศในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ได้

นโยบายสําคัญของ อว. จะมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในด้านของการผลิตและพัฒนากำลังคน การพัฒนาองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรม ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้และการทำงานรูปแบบใหม่ โดยใช้ศักยภาพและความถนัดของสถาบัน นำไปสู่การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถจัดการศึกษา การวิจัย และการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เกิดการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล จนนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ

ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้สังกัดกลุ่ม ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 จำนวน 104 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น มี 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา มี 2 แห่ง และกลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ มี 18 แห่ง

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และนำงานวิจัยต่อยอดสู่นวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based  & Community) จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระดับครัวเรือนและชุมชน  ยกระดับคุณภาพชีวิตรวมถึงความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น