อว. ประกาศเกียรติคุณนักวิจัยไทยรางวัลประกวดนวัตกรรมนานาชาติ พร้อมเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

0
550

วันที่ 21 กันยายน 2566 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปประกวดเวทีนานาชาติ กว่า 48 ผลงาน จาก 2 เวที และพิธีเปิดศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน”

โดยมี พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร วช. และคณะนักวิจัย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1 และศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน อาคาร วช. 7 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรุงเทพมหานคร

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า จากการที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติและได้รับรางวัลกลับมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นโอกาสอันดีที่ได้เผยแพร่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติและสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ซึ่งตรงกับนโยบายที่ได้มอบไว้ให้กระทรวง อว. โดยนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ และนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ความยั่งยืนถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่สังคมโลกให้ความสนใจร่วมกันและกำลังจะเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนสังคมโลกที่ทุกคนจะให้ความสำคัญ เพราะโลกต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความท้าทายต่าง ๆ ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ให้เกิดความยั่งยืนขึ้นอย่างแท้จริงทั้งต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีปัญหาก็ต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหา ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือนั้น ก็คือการนำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อการสร้างความยั่งยืนกับคนรุ่นถัดไป

รมว.อว. กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และชุมชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการในสาขาที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศ โดยสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเพิ่มมาตรการการจูงใจในด้านต่าง ๆ สนับสนุนให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะการเริ่มต้นการเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์มืออาชีพต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ภายใต้ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ของ วช.

“ที่สำคัญ อว.ยังต้องการผลักดันผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งภาคชุมชน สังคมและอุตสาหกรรม จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการใช้ความรู้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นหลักยึดในการประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตประจำวันในสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่ทัดเทียมกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว และนำพาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่เกินความสามารถของคนไทย หากพวกเราร่วมมือร่วมใจประสานและเชื่อมโยงการทำงาน ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่ง วช. ถือมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนำผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับสิ่งประดิษฐ์ให้ก้าวไกลระดับโลก รวมถึงสถาบันการการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การส่งเสริมนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยให้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม และขอฝากให้ช่วยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและร่วมกันพัฒนาประเทศของเราให้ยั่งยืนต่อไป” รมว.อว. กล่าว ทิ้งท้าย

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาในส่วนของการสร้างโอกาสและศักยภาพให้กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ในการนำผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัยไปร่วมประกวดในเวทีสำคัญในระดับประเทศและระดับนานาชาติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้คัดกรอง ซึ่งในแต่ละปีมีการนำเสนอผลงานเข้าสู่เวทีการประกวดมากกว่า 300 ผลงาน ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานก็คือการสร้างโอกาส ในเรื่องของการสร้างมาตรฐาน นำศักยภาพของผลงานวิจัยไทยไปสู่เวทีในระดับสากล และยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติและที่สำคัญงานที่ได้รับรองมาตรฐานก็สามารถนำมาต่อยอดในการวิจัยและพัฒนาประเทศ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมานักวิจัยไทยได้ประสบความสำเร็จในหลากหลายเวที มีการพัฒนาทั้งเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัยที่ดีขึ้น และก่อประโยชน์ในเรื่องของการสร้างเครือข่าย และที่สำคัญนักวิจัยได้รับโอกาสในการรับข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ จากนักประดิษฐ์ นักวิจัย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในระดับนานาชาติ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว วช. ได้มีพันธมิตรระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นกว่า 30 องค์กร จากกว่า 20 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย

อย่างไรก็ดี วช. ได้จัดให้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมากว่า 5 ปี เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ โดยในครั้งนี้ วช. จะมีการมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจำนวน 48 ผลงาน จาก 2 เวทีล่าสุด ได้แก่ 1. เวที WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนักประดิษฐ์ไทยจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จากผลงานเรื่อง “ยานพาหนะสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสี”นอกจากนี้ยังมีเหรียญทองจำนวน 10 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล และ 2. เวที Indonesia Inventors Day 2023” (IID 2023) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 19 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยจากบริษัท เฮลท์ เฮิร์บ เซ็นเตอร์ จำกัด คว้ารางวัล The Best Business Performance Excellence Award จากผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันงาดำสกัดเข้มข้น เสริมโคเอนไซม์ คิวเท็น เพื่อบำรุงสมองและกระดูก” ส่วนเหรียญทองมีจำนวน 19 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 3 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 3 รางวัล ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้สร้างชื่อเสียงและสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ วช.

จากนั้น รมว.อว. ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน” ที่ วช. ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอาคารต้นแบบในการนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มาสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน นักวิจัยและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านการประดิษฐ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยพัฒนาทักษะการเริ่มต้นการเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์มืออาชีพต่อไปในอนาคต โดย วช. ได้จัดให้มีกิจกรรมการอบรมและการเรียนรู้ ดังนี้ 1. Sky Innovators: Coding for Drone Mastery 2. USB-Mini Torch (ประดิษฐ์ไฟฉาย Mini USB) 3. “DIY HERB SOAP งานศิลปะบนก้อนสบู่” 4. วัสดุฉลาดทางการแพทย์ ด้าน Biomedical Engineering 5. การประยุกต์ใช้ IoT ขั้นพื้นฐานเพื่อการเกษตร 6. การวางต้นไม้อย่างไรให้ลดฝุ่น 7. พื้นฐานการใช้เทคโนโลยีเซลล์ไฟฟ้าจุลินทรีย์จากพืชและสาหร่ายและการดูแลรักษา 8. ขนใบกับคายน้ำช่วยลดฝุ่นได้อย่างไร และ 9. สารอินทรีย์กำจัดแมลงทรงประสิทธิภาพจากเปลือกไข่ผสมน้ำหมักสับปะรด

นอกจากนี้ วช. ยังได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมการศึกษานอกห้องเรียนเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้” ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน ความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดการส่งเสริม ผลักดัน การเพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเยาวชนโดยเน้นประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน การสร้างแรงจูงใจในการเรียน เพิ่มพูนประสบการณ์ในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่สำคัญ และปลูกฝังคุณลักษณะของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต