อว. ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรังชูความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน จนเกิดเป็นสินค้า GI เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

0
97

สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย มทร.ศรีวิชัย ชูความสำเร็จการพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน จนเกิดเป็นสินค้า GI เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี  ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และ ผศ.ศจี ศิริไกร ผู้แทนคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ 2565 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) “โครงการพลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ” และเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน “โครงการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนคุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรัง” ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนายกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและการบริการ จากการประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยมี ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จ.ตรัง จนเกิดเป็นสินค้า GI เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน7

ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมการเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาและผลักดันงานภาคการเกษตรบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการลงทุนและการบริหารจัดการภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร  โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่  สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจเกษตร เตรียมความพร้อมบุคลากร โดยพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของธุรกิจภายใต้โครงการ  นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่โครงการ  และการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านธุรกิจเกษตรร่วมกับสถานประกอบการ  รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ด้านสัตว์เศรษฐกิจ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี  ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า ขอชื่นชมผลการดำเนินงานของ มทร.ศรีวิชัย ที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาผู้เรียนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์เพื่อสร้างผลงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์  รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่มูลค่าในภาคการผลิตและบริการ จากการดำเนินโครงการส่งผลให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรใหม่ร่วมกับสถานประกอบการด้านธุรกิจเกษตร  เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษา บุคลากร และผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญตอบสนองธุรกิจเกษตร  จนสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรายใหม่ และได้สินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานสากล (มาตรฐาน GAP) 

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า  มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงศักยภาพของการบริหารจัดการหน่วยทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี จนเกิดการต่อยอดและพัฒนา เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน” ที่เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในสินค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยคุณสมบัติมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร  และพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน โดยแก้ไขปัญหาทั้งในกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้องการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย มีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน  โดยได้ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ประกอบการเพื่อขยายผลการดำเนินงานจนเกิดเป็นสินค้า GI อย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจนในปี 2566 ผู้ประกอบการจำนวน 41 ราย ได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI  ซึ่งมีผลต่อการยอมรับของผู้บริโภคสู่การขยายผลในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์การจุดเน้นและเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

“ทั้งนี้ ตนและคณะกรรมการฯ เห็นว่า มทร.ศรีวิชัยมีการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคประกอบการ  พัฒนากลไกการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจมากขึ้น และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  อีกทั้ง ได้สนับสนุนการยกระดับผู้ประกอบการ ซึ่งเห็นได้ว่า ส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม  ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงมิติทางสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มวิสาหกิจ  และได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยควรดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานประกอบการ และมุ่งเน้นและพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและ licensing technology ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายผลขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานให้ทุนอื่นต่อไป”