อย. เผย มีระบบฐานข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการซื้อถูกยกเลิกเลขอนุญาตหรือไม่ โดยตรวจผ่านได้ทั้งทางเว็บไซต์ แอพลิเคชั่น Facebook และ Line พร้อมจัดการอย่างเข้มงวดและดำเนินการอย่างถึงที่สุดกับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายที่ยังแอบแฝงขายผ่านทางช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ในอีมาร์เก็ตเพลส รวมทั้งร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วนเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในสื่อออนไลน์ โดยพบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกเลิกเลขสารบบไปแล้วนั้น อย. ขอขอบคุณเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการดำเนินการร่วมกันเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้สามารถป้องกันได้ โดย อย. มีระบบฐานข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสถานะการอนุญาตผลิตภัณฑ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และ www.oryor.com แอพลิเคชั่น Oryor Smart Application , Facebook และ Line : FDA Thai กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกเพิกถอน ระบบจะแจ้งสถานะให้ทราบทันทีว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ขอให้ตรวจสอบจากระบบฐานข้อมูลนี้ก่อนเพื่อความมั่นใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว
สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์และอีมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ นั้น อย. มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโฆษณาที่ผิดกฎหมาย สามารถระงับโฆษณาได้มากกว่า 250,000 รายการ และในปีงบประมาณ 2562 มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืน อย. โดยมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณา และได้ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำผิดทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์และพรีเซ็นเตอร์ จำนวน 280 คดี รวมค่าปรับ 1,724,000 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกเลขสารบบไปแล้วนั้น อย. ได้มีการประกาศแจ้งเตือนข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีการยกเลิกผ่านทางเว็บไซต์ และระบบสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลก่อนการซื้อผลิตภัณฑ์ มีการส่งข้อมูลรายการผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเฝ้าระวังการจำหน่ายทั่วประเทศ มีการนําระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ระบบ Intensive watch) มาใช้ในการตรวจสอบ และเฝ้าติดตามการเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อสังคมออนไลน์และมาร์เก็ตเพลส โดยหากตรวจสอบพบการโฆษณาจำหน่าย จะมีการดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุดกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืน รวมถึงมีการขยายผลเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ณ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย อีกด้วย
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์สุขภาพมีเป็นจำนวนมากและมีการโฆษณามากมายทุกช่องทาง อย.จึงได้ร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย มาร์เก็ตเพลส และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อร่วมกันหารือและให้คำแนะนำตลอดจนระดมความคิดเห็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ โดยในกรณีนี้จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย