อยากรู้เปลือกทุเรียนทำอะไรได้บ้าง ! ชมได้ที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

0
1165

มรภ.รำไพพรรณี ร่วมแสดงผลงานพัฒนาเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 เผยประโยชน์จากเปลือกทุเรียนสามารถแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งเพิ่มคุณค่าในอาหาร รวมถึงพัฒนาเป็นวัสดุต่างๆ เช่น โฟมย่อยสลายได้ทางชีวภาพ กระดาษ และแผ่นเฟอร์นิเจอร์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย วช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน”มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ขึ้นระหว่างวันที่1-5 สิงหาคม 2565 เพื่อที่จะเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในงานปีนี้ ในภาคนิทรรศการได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 700 ผลงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากเปลือกทุเรียน และการวิจัยตลาดของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนภาคตะวันออก ผลงานการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขยะจากเปลือกทุเรียน โดยนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าในรูปแบบต่างๆ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่

รศ.ดร.สุรีย์มาศ สุขกสิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน เมื่อถึงฤดูกาลทุเรียนออกผลผลิตจะมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งจำนวนมาก ซึ่งสร้างปัญหาเรื่องการกำจัดให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียน และผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายทุเรียน ซึ่งบางครั้งเกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นรบกวน และไม่ทราบว่าจะกำจัดด้วยวิธีการใด นอกจากปล่อยให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ขณะที่ในส่วนผลของทุเรียน จะมีส่วนที่เป็นเปลือก ถึง 75 % ของน้ำหนักทั้งหมด และในเปลือกทุเรียน พบว่ามีองค์ประกอบของเส้นใยอาหารถึง 79 % ทั้งเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น เซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลส และเส้นใยอาหารที่ละลายได้ในน้ำ เช่น เพคตินและกัม ทีมวิจัยซึ่งมี “ผศ.ดร.หยาดรุ้ง สุวรรณรัตน์” จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัย ฯ จึงเกิดแนวคิดในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกทุเรียน ซึ่งจะช่วยกำจัดปัญหาเศษเหลือทิ้งที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ผศ.ดร.หยาดรุ้ง สุวรรณรัตน์ กล่าวว่า แผนงานวิจัยดังกล่าว ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยประกอบด้วยแผนงานย่อยต่าง ๆ เช่น การศึกษาแนวคิดต่อผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนและการวิจัยตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่จากเปลือกทุเรียน ซึ่งกระบวนการทดสอบแนวคิดผลิตภัณฑ์จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนหรือผู้ที่ต้องการผลิตผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนได้มองเห็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนนำไปสู่กระบวนการผลิต งานวิจัยนี้มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนในหลากหลายรูปแบบ และควรส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้า OTOP หรือของฝากประจำท้องถิ่น

ทั้งนี้ทีมวิจัยได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากเปลือกทุเรียน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนเพื่อการใช้สอยในยุคสังคมใหม่ เช่น การแปรรูปเป็นกระดาษเปลือกทุเรียน และแผ่นวัสดุเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการพัฒนาเครื่องอัดถ่านแท่งและถ่านอัดแท่งจากเปลือกทุเรียนเพื่อชุมชนฐานรากตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการผลิตสารทำให้เกิดเจลจากเปลือกทุเรียนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตแยมจากผลไม้ที่มีราคาตกต่ำในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเน้นการนำเปลือกทุเรียนมาสกัดเพคติน สำหรับเป็นสารทำให้เกิดเจลในการผลิตแยมสละและระกำ มีการประยุกต์ใช้ใยอาหารจากเปลือกทุเรียนเป็นพรีไบโอติกร่วมกับไพรไบโอติกแบคทีเรียที่แยกได้จากอาหารหมักผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเสริมใยอาหารจากเปลือกทุเรียนในผลิตภัณฑ์น้ำมังคุด เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนา

เรียกได้ว่าแผนงานวิจัยนี้ สามารถพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียนได้อย่างหลากหลายรูปแบบ มีการบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขา ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง และช่วยแก้ปัญหาขยะจากเปลือกทุเรียนแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่คนในชุมชน รวมถึงเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้และขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝากประจำท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการทำตลาดได้อีกด้วย