อพท. เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ชูกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในธีม “รัก แลก พบ” เปิด 4 เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนในมุมมองใหม่

0
1932

อพท. ผนึกรัฐ-เอกชน-ท้องถิ่น ชู 4 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก นำร่อง “เพชรบุรี-ประจวบฯ” ส่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์-อัตลักษณ์จังหวัด ในธีม “รัก แลก พบ” เปิด 4 เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนในมุมมองใหม่ นำไอเดียการตลาดส่งเสริมดึงดูดความสนใจ พร้อมเพิ่มมูลค่าด้วยครีเอทีฟไอเดีย กับ Creative Tourism หวังกระจายรายได้-นักท่องเที่ยว พร้อมดึงเม็ดเงินท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เล็งแบ่งเงินจัดตั้งกองทุนชุมชน สร้างการศึกษา-อัพเกรดคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวว่า “จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เช่น ชายหาด อุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวทางนันทนาการ ตลอดจนโครงการตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่น่าสนใจจำนวนมาก ถึงแม้จะเป็นจังหวัดติดทะเลเหมือนกัน แต่กิจกรรมการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีความแตกต่างกัน สำหรับจังหวัดเพชรบุรีนั้นมีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โครงการพระราชดำริฯ พื้นที่ป่าชายเลน โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตเกษตร และกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ อพท. กำหนดตำแหน่งทางการตลาดไว้นั้น จะสอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่นั้นๆ ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น มีชายหาด หัวหินที่สวยงาม อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ จึงได้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวโดยนำจุดเด่น จุดขายที่หลากหลายของทั้งสองจังหวัด สร้างความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพิ่มความน่าสนใจด้วย กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในแต่ละเส้นทางอย่างลงตัว ทั้ง 4 เส้นทาง คือ เส้นทางท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี ภายใต้ธีม “เพชรริมเล เสน่ห์ชุมชน” เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในธีม “ประจวบอัศจรรย์ สีสันชุมชน” เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ ใช้ธีมว่า “ดูเล แลเมือง ร้อยเรื่องชุมชน” และเส้นทางสุดท้าย ธีม “สร้างสุข บำรุงใจ” คือ เส้นทางท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการ ที่เคลื่อนไหวยาก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ ในการส่งเสริมให้ได้ออกท่องเที่ยวกับครอบครัว อีกด้วย”นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะประธานคณะทำงาน เปิดเผยต่อว่า อพท. เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษ โดยนำร่องยกระดับพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเริ่มจากการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก จำนวน 4 เส้นทาง โดยภายหลังจากการลงพื้นที่เสาะหาแหล่งและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นนั้น ได้ทำงานร่วมกับชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนา พร้อมผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐในพื้นที่ และเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคเอกชนด้วย

โครงการดังกล่าว อพท. ได้ตั้งเป้าหมายต้องการที่จะประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยวให้ 4 เส้นทางนั้น เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก พร้อมทั้งชูการท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยม เพื่อมุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนเจ้าของแหล่ง หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวได้พัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างรายได้เสริมโดยการท่องเที่ยวให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยว ประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับศักยภาพ จัดตั้งเป็นกองทุนของแต่ละชุมชน นำไปบริหารจัดการเพื่อเป็นทุนการศึกษา ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ อพท. กำหนดตำแหน่งทางการตลาดไว้นั้น จะสอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่นั้นๆ

“เป้าหมายสำคัญของโครงการฯ เป็นมิติของการท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสอดรับกับนโยบายรัฐที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และยังเป็นการกระจายรายได้ รวมถึงเปิดมุมมองใหม่ด้านการท่องเที่ยวพร้อมเปิดประสบการณ์การเรียนรู้วัฒนธรรม เราต้องการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม มาท่องเที่ยวชุมชนด้วย เพื่อเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอีกช่องทาง ทั้งนี้จากสถิติพบว่า 60% เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ แต่ยังกระจุกตัวอยู่แหล่งท่องเที่ยวหลักเดิมๆ การจัดทำโครงการในครั้งนี้ จึงอยากให้นักท่องเที่ยวทราบว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง ซึ่งความท้าทายของ อพท.ในตอนนี้ คือ การที่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืน” นายสุเทพ กล่าวเสริม

สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยชุมชนนั้น อพท. 8 ได้ลงพื้นที่ร่วมพัฒนา สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชน ในการนำกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนที่โดดเด่น มาปรับเสริมเพิ่มมูลค่าให้ออกมาเป็น Creative Tourism จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเรียนรู้วิถีสับปะรด ที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินลุยสวนสับปะรด ได้ทำอาหารจากสับปะรด เมนูที่การันตีด้วยรางวัล เชฟชุมชน “ซี่โครงหมูอบสับปะรด” และได้เรียนรู้วิถีการทำเกษตรสับปะรดของชาวประจวบคีรีขันธ์ ชื่อกิจกรรม “สบตา สบใจ” โดยชุมชนอ่าวน้อย สำหรับจังหวัดเพชรบุรี เมืองลูกหลวงที่สั่งสมอารยธรรม ศิลปะ วัฒนธรรมอันเก่าแก่ ฝีมืองานช่างสกุลเพชร ที่โดดเด่น อพท. 8 ได้คัดเลือกงานศิลปะ 2 แขนงมาพัฒนาร่วมกับชุมชน คือ “การเรียนรู้งานปูนปั้น” ลายประจำยาม ที่เป็นเอกลักษณ์และชิ้นงานพื้นฐานของงานช่าง ปูนปั้น โดยกลุ่มศิลปะปูนปั้น อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้งานปูนปั้นที่ต้องการอนุรักษ์โดยถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ธีมของกิจกรรม คือ “รักษ์ ปั้น ศิลป์” นักท่องเที่ยวจะได้แสดงศักยภาพด้านศิลปะ ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานที่ทำให้หลายๆ คน เมื่อได้ลงมือทำก็จะได้รู้ว่าศิลปะนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ถัดมาที่ชุมชนเมืองเก่าริมน้ำเพชรบุรี ชุมชนมีความผูกพันธ์และตั้งใจที่จะสืบทอดศิลปะ “การตอกกระดาษ” และ “การตอกหนังใหญ่” โดยการออกแบบกิจกรรมที่มีความผสมผสาน ศิลปะ 2 แขนงเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็น กิจกรรมตอกกระดาษเมืองเพชร “ลายหนังใหญ่” ชื่อธีม “ตอกลาย สร้างศิลป์” และที่ขาดไม่ได้เมื่อมาเมืองเพชร คือการเที่ยวสวนตาล หรือกินขนมตาล คือ วิถีชีวิตชาวสวนตาล จึงเป็นที่มาของ กิจกรรม “เรียนรู้วิถีตาล” การทำขนมตาล กับธีม “ตาลหวาน อาหารใจ” โดยชุมชนถ้ำรงค์ นักท่องเที่ยวทุกคนเมื่อได้มีโอกาสลงมือทำขนมตาลด้วยตัวเอง จะเข้าใจมากขึ้นว่า วิถีชีวิตเกษตรกรปลูกตาลนั้น เป็นอาชีพที่ต้องอดทน และขยันมาก ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวตำบลถ้ำรงค์ ต้องการรักษาให้วิถีตาลยังคงอยู่ต่อไป ด้วยการใช้ Creative Tourism เป็นตัวช่วยที่สำคัญ