อบรมฟรี! “การเคหะแห่งชาติ” เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม “โครงการอบรมช่างชุมชน” หลักสูตรปี 2565 กว่า 1,000 คน ตั้งเป้าสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ด่วน! หมดเขต 28 ก.พ.นี้

0
2199

จากนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. มอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุขและเป็นของขวัญที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการสร้างอาชีพภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องกลับมามีรายได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย สามารถมีอาชีพที่ช่วยเหลือตัวเองได้
โดยหนึ่งในของขวัญของการเคหะแห่งชาติ ที่มอบให้กับประชาชนในนามกระทรวง พม. คือ สร้างอาชีพ
“ช่างชุมชน” ให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ โดยจะเปิดอบรมหลักสูตร “ช่างชุมชน” ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับหลักสูตรละ 250 คน รวม 1,000 คน มี 4 หลักสูตร ได้แก่ ช่างล้างและบำรุงเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างบำรุงรักษาจักรยานยนต์ และช่างเดินท่อและติดตั้งสุขภัณฑ์

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่างชุมชนทั้ง 4 หลักสูตร ผ่าน Google form ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 (อบรมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย) โดยมีรายละเอียดดังนี้ หลักสูตรช่างเดินท่อและติดตั้งสุขภัณฑ์ ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชม. (ภาคทฤษฎี 11 ชม. ภาคปฏิบัติ 19 ชม.) หลักสูตรช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชม. (ภาคทฤษฎี 7 ชม. ภาคปฏิบัติ 23 ชม.) หลักสูตรช่างบำรุงรักษาจักรยานยนต์ ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชม. (ภาคทฤษฎี 9 ชม. ภาคปฏิบัติ 21 ชม.) หลักสูตรช่างล้างและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้าน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชม. (ภาคทฤษฎี 10 ชม. ภาคปฏิบัติ 20 ชม.) และหลักสูตรช่างอื่นๆ
สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ คือผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการบริการชุมชน การเคหะแห่งชาติ
โทร 09 5543 3815
“โครงการอบรมช่างชุมชนทั้ง 4 หลักสูตร และหลักสูตรช่างอื่นๆ จะสามารถสร้างรายได้ต่อครั้งไม่น้อยกว่า 300 บาท ในการรับบริการให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการของตนเอง และต่อยอดไปถึงการรับงานจากภายนอกชุมชน
ยิ่งถ้ามีการพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องก็จะสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีรายได้ที่มั่นคง สามารถ
หาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน” นาย​     ทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย