“อนุทิน”รับมอบห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ Huo-Yan Air Laboratory จากรัฐบาลจีนช่วยไทยต่อสู้กับโรคระบาด

0
1108

วันนี้ (19 กันยายน 2565)ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะผู้บริหาร รับมอบห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (The Huo-Yan Air Laboratory) จากมูลนิธิด้านการกุศล (Mammoth Foundation) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้พัฒนาโดยบริษัทบีจีไอ จีโนมิกส์ (BGI Genomics) สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ห้อง เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือ กับโรคโควิด 19 และโรคระบาดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ภายใต้การประสานงานของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย โดยมี นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะ เป็นตัวแทนมอบ พร้อมด้วย นายซูเจี๋ย เชา รองประธาน บริษัท BGI Genomics ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน กล่าวว่า ในนามรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาลจีน และมูลนิธิด้านการกุศลของจีนที่มีความปรารถนาดีให้กับประเทศไทยตลอดมา ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศและมีความมุ่งมั่น ที่ต้องการจะแก้ไขสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ร่วมกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้สนับสนุนข้อมูลและแนวทางการควบคุมการระบาดโควิด 19 รวมทั้งได้บริจาคเวชภัณฑ์ ยา และวัคซีน ในการช่วยเหลือประเทศไทยต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด 19

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยน (The Huo-Yan Laboratory) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศจีน มีการวางระบบห้องปฏิบัติการที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคและเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ทั้งด้านเทคนิคและการบริการภายในอย่างครบครันโดยห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนแห่งแรกได้เริ่มทำการติดตั้งที่ธนาคารพันธุศาสตร์นานาชาติแห่งประเทศจีน (China National Gene Bank) ในมณฑลเซินเจิ้น มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเป่าลมแบบพกพาที่ประกอบไปด้วยระบบจัดการของเสียทางการแพทย์ สามารถใส่เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ Real-time PCR เครื่องถอดรหัสทางพันธุกรรมและเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อไวรัส

นอกจากนี้โครงสร้างของห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแปลงความดันบวกและลบจากระบบควบคุมความดันและอากาศบริสุทธิ์อัจฉริยะ ด้วยต้นทุนในการก่อสร้างและ การใช้พลังงานที่ต่ำ ทำให้ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่นี้ใช้เวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงในการเตรียม และติดตั้งเพียงแค่ 2-3 วันก็พร้อมใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับการวางระบบกระแสไฟฟ้าแบบรวม และระบบการระบายอากาศที่ดีเยี่ยม รองรับการวิเคราะห์ตัวอย่างมากกว่า 5,000 ตัวอย่างต่อวัน สามารถช่วยคัดกรองเป้าหมายและบรรเทาวิกฤตการณ์ โรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมได้ ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 102 ห้อง ใน 38 ประเทศทั่วโลก

ในขณะที่นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่าห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่นี้จะมีประโยชน์มาก เนื่องจากสามารถจัดเก็บและเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในสถานที่ต่างๆได้เป็นเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านต้นทุนและระยะเวลาในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการมีความยืดหยุ่นสูง รวมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งาน และนำไปใช้กับงานอื่นในระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post pandemic) ได้ เช่น งานห้องปฏิบัติการชีวเคมี งานห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยางานตรวจวินิจฉัย ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care testing หรือ POCT) โดยที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไปได้