Dow เปิดเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ชิงแชมป์ DOW-CST AWARD ครั้งที่ 8 ประสบความสำเร็จเกินคาด โรงเรียนมัธยมแห่ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวดถึง 57 โครงงาน สะท้อนความนิยมการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ตามหลัก “ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” ที่มีขนาดเล็ก ปลอดภัยสูง และราคาถูก สามารถเข้าถึงโรงเรียนได้ในทุกภาค แม้ในพื้นที่ห่างไกล ช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยได้ทำจริง เตรียมขยายผลเพิ่มในปีถัดไป
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ได้จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ประจำปี พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ Green Chemistry ภายใต้ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งปีนี้มีโรงเรียนทั่วประเทศส่งเข้าประกวดสูงสุดถึง 57 โครงงาน สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวและการเข้าถึงการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ที่มากขึ้น เพราะนักเรียนได้ลงมือทดลองเอง ชุดการทดลองมีขนาดเล็ก มีความปลอดภัยสูง ใช้สารเคมีน้อย มีราคาถูก และประยุกต์ใช้สิ่งของในท้องถิ่นมาทดลองได้ จึงช่วยกระจายโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
Dow ได้ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ (CST) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่งผลงานการทดลองที่ออกแบบภายใต้หลักการของเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน เข้าร่วมประกวด DOW-CST AWARD ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ซึ่งได้จัดประกวดรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่อาคารจามจุรีสแควร์ โดยมียอดผู้เข้าร่วมประกวดในปีนี้สูงเป็นประวัติการณ์จากทุกภาคทั่วประเทศ
นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ในฐานะบริษัทวัสดุศาสตร์ชั้นนำของโลก เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เราจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้เด็ก ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดห่างไกล มีโอกาสเช่นเดียวกันในการลงมือทดลองด้วยตัวเอง เกิดความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคต”
ศ.ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “เทคนิคปฏิบัติการแบบย่อส่วน ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน ราคาย่อมเยาว์ สารเคมีที่เลือกใช้สามารถหาได้ง่ายและใช้ในปริมาณที่น้อยมากมาก จึงปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามยิ่งอุปกรณ์ไม่ซับซ้อนเท่าไร การทดลองที่นำมาใช้ต้องมีการออกแบบมาอย่างดี ต้องมีความลุ่มลึก ซึ่งการทำการทดลองด้วยเทคนิคปฏิบัติการแบบย่อส่วนจะทำให้ผู้เรียนเกิดการคิด วิเคราะห์ และเข้าใจหลักการทางเคมีได้อย่างลึกซึ้ง จึงเหมาะที่นำมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนในโรงเรียน ในปีนี้มีโรงเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการมากถึง 57 ทีม จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่จะมีการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาใช้กันแพร่หลายและกระจายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเคมีในประเทศไทย อันจะส่งเสริมในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป เพราะเคมีคือศาสตร์กลางของวิทยาศาสตร์ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ”
ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สพฐ.) กล่าวว่า “การประกวดสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ไปประยุกต์ใช้ในบทเรียนของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรให้สอดรับกับบริบทของท้องถิ่นได้จริง จนสามารถส่งโครงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สู่เวทีการประกวดได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นผลจากการที่ สพฐ. ร่วมกับพันธมิตรในโครงการฯ ขยายผลการสอนด้วยวิธีการนี้ และแน่นอนว่าเราจะยังคงร่วมมือกันขยายผลให้กับโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ต่อไป เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ของประเทศไทย”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. มุ่งมั่นที่จะทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกสนานและใกล้ตัว ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยกิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ อพวช. สนับสนุนและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนและคุณครูได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพขวนขวายหาความรู้นอกเหนือจากในบทเรียน ทำให้การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์สนุกสนานและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ โดยสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ต่อยอดและประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ต่อไป”
ศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “การประกวดในปีนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากโรงเรียนทั้งส่วนกลาง ต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกล สะท้อนให้เห็นถึงการนำหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งการทดลองแบบย่อส่วนได้รับการยอมรับจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เม็กซิโก ฟิลิปินส์ ญี่ปุ่น และ จีน เป็นต้น โดยปัจจุบัน โครงการห้องเรียนเคมีดาว ได้จัดอบรมให้กับคุณครูทั่วประเทศแล้ว 2,086 คน จาก 1,237 โรงเรียน และมีนักเรียนที่เข้าร่วมเรียนรู้จากโครงการนี้โดยตรงแล้วกว่า 310,000 คน และยังมีแผนที่จะขยายผลต่อไป”
ผลการแข่งขัน DOW-CST AWARD ครั้งที่ 8 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนศรียานุสรณ์ จ. จันทบุรี จากโครงงานการเรียนรู้แบบครอบคลุมผ่านเซ็นเซอร์จากกระดาษ โดยใช้อนุภาคนาโนทองคำที่สังเคราะห์โดยวิธีสีเขียวเพื่อตรวจวัดกลูโคส 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จ.กรุงเทพฯ จากโครงงาน Small scale titration curve experiment with stirr and SAMS EN pH detector application ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย จ.เชียงราย และโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
ผลการแข่งขันในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย จากโครงงานปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จ.ระยอง จากโครงงานมหัศจรรย์สารบ้านเรา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท
สำหรับปีนี้ โครงการฯ ได้มอบรางวัลพิเศษ หรือรางวัล Popular View จำนวน 1 รางวัล ให้กับทีมที่มียอดชมคลิปการทดลองสูงสุดบน YouTube ของ Dow Thailand โดยตัดสินจากยอดการชมวิดีโอเท่านั้น ได้แก่ โรงเรียนเชียงคาน จ.เลย ซึ่งได้รับเงินรางวัลพิเศษ 10,000 บาท
สำหรับคุณครูที่ปรึกษาของทั้ง 26 ทีม ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2023) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกของสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และเป็นครูต้นแบบของโครงการฯ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูที่ผ่านการฝึกอบรมภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จะสามารถนำชั่วโมงการอบรมบรรจุในการขอมี หรือเลื่อนวิทยาฐานะของครูผู้สอนได้ต่อไป
###
เกี่ยวกับ ‘ดาว’
Dow (ดาว) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกซึ่งพัฒนาและผลิตวัสดุชนิดต่าง ๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจและอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมทั้งการดำเนินงานที่เป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล Dow มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ (Materials science) ชั้นนำของโลกในด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน ด้วยการทำงานที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้การยอมรับบุคคลากรที่มีความหลากหลาย กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางวิทยาศาสตร์ของ Dow เน้นตอบโจทย์การใช้งานในอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีการเติบโตสูง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ การก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น ปัจจุบัน Dow มีฐานการผลิต 104 แห่งใน 31 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 35,700 คน โดยมียอดขายในปี พ.ศ. 2564 ประมาณ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dow.com หรือติดตามทวิตเตอร์ @DowNewsroom
เกี่ยวกับ ‘กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย’
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow Thailand Group) เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี ก่อตั้งกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจี-ดาว ในปี พ.ศ. 2530 (ในปี 2565 เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รีแบรนด์เป็น เอสซีจีซี) โดยในปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วยบริษัทซึ่ง Dow เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว และกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจีซี-ดาว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนระหว่าง Dow และ โซลเวย์ในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ ดาว ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยมีโรงงานหลายแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ตลาดหลักของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์และการขนส่ง สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ที่ https://th.dow.com/en-us หรือติดตามเฟซบุ๊ก www.facebook.com/DowThailandGroup/
skrotintakom@dow.com อีเมล: lalida@dow.com