หุ่นยนต์ปิ่นโต “Pinto” ผู้ช่วยแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19

0
1970

เนื่องด้วยวิกฤตการแพร่ของโรคระบาดโควิด 19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยป่วยเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่มีจำกัดจึงไม่เพียงพอ ยิ่งกว่านั้นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับโรคอุบัติใหม่นี้ยังขาดแคลนเป็นอย่างมากและมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน  เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เพื่อสร้างหุ่นยนต์ และ อุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในโรงพยาบาล

จากการทดสอบความต้องการจริงของแพทย์และโรงพยาบาลหลาย ๆ โรงพยาบาล ทีมงานนำรูปแบบหุ่นยนต์เสนอหลายรูปแบบแต่พบว่า ในสถานการณ์วิกฤต สิ่งที่แพทย์และพยาบาลหน้างานต้องการคือ ต้องการสิ่งที่ทำงานได้จริง ใช้ง่าย สะดวก ทำความสะอาดเชื้อได้ง่าย งบประมาณต่ำ ไม่กินพื้นที่ทำงาน ไม่เสียเวลาการติดตั้งมากนัก และควรเป็นระบบที่คุ้นเคยและเรียนรู้ได้ง่าย  สร้างเป็นจำนวนมากได้ ทีมงานจึงเลือกนำอุปกรณ์ที่ต้องใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาล คือ รถเข็น ส่งอาหารผู้ป่วยมาปรับระบบการควบคุมการเคลื่อนที่ระยะไกลได้ นั่นคือที่มาของ หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต Quarantine Delivery robot พร้อมระบบสื่อสารดูแลผู้ป่วยระยะไกลกับแพทย์และพยาบาล Quarantine Tele-presence ได้ โดยเป้าผลิตจำนวน 100 ชุดเพื่อมอบให้โรงพยาบาลต่างๆทั้วประเทศ

ในการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหุ่นยนต์ปิ่นโตแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย  จำนวน 20 ตัว ที่ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิต แต่โดยทั้งนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ขอพระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตจำนวน 1 ตัว สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้ว เพื่อนำไปติดตั้งที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563

นอกจากนี้แล้วทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ โดยพัฒนาและผลิตอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ที่มีความจำเป็นสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 เช่น เครื่องทดแทนเครื่องช่วยหายใจ

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ. ดร. วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์  ผู้อำนวยการ International School of Engineering และ หัวหน้าทีมงานโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 หรือ ทีม CURoboCovid โดยทีมงานประกอบด้วย กลุ่มคณาจารย์ ดร สุรัฐ ขวัญเมือง จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่ม Startup ของศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือ บริษัท HG Robotics และ Obodroid. ได้เปิดเผยว่า

ตั้งแต่เมื่อได้รับดำริจากท่านคณบดี ในการสร้างทีม CURoboCovid เพื่อสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนแพทย์และโรงพยาบาล​ ทีมงานได้นำหุ่นยนต์ปิ่นโตไปทำการทดสอบการใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลหลายโรงแล้วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม​ และในวันที่​ 29​ มีนาคม​ 2563​ หุ่นยนต์ “Pinto” Quarantine Delivery Robot พร้อมระบบสื่อสารทางไกล ​Quarantine Tele Presence​ ติดตั้งที่ แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้ผลลัพธ์ของประสิทธิภาพการใช้งานและความพึงพอต่อในการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ถือได้ว่า หุ่นยนต์ “Pinto” ตัวนี้ค่อนข้างเป็นคำตอบที่ถูกใจและตรงใจในการช่วยในการปัญหาของเหล่าบุคลากรทางแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้ ซึ่งหุ่นยนต์ปิ่นโตนี้ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้สามารถเคลื่อนที่รอบตัวคนไข้บนเตียงได้ ดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อแพร่ต่อไปได้อีก ที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็น คือ ไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อที่จะใช้งานหุ่นยนต์นี้ จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที  จะช่วยทำให้สามารถปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยได้จากระยะไกลโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปใกล้กับผู้ป่วย ช่วยลดความเสี่ยงของแพทย์และพยาบาล รวมถึงยังช่วยลดการใช้งานของชุดป้องกันตนเองที่ถึงว่าเป็นส่งขาดแคลนอยู่ในขณะปัจจุบันนี้  ทั้งนี้ ทางทีมเราได้ดำเนินการติดตั้งและใช้งานที่โรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ  โรงพยาบาลรามาธิบดี แผนกฉุกเฉิน  หุ่นยนต์​ปิ่นโต 1 ตัว และ​ Quarantine​ Telepresence จำนวน 6  เครื่อง  และ ที่โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์​ ติดตั้งระบบ ​Quarantine​ Telepresence จำนวน 17 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อของโรงพยาบาลที่อยู่ในการกำลังดำเนินการดังต่อไปนี้

– โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

– โรงพยาบาลลำพูน

– โรงพยาบาลตำรวจ

– โรงพยาบาลนครปฐม

– โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

– โรงพยาบาลชัยภูมิ

– โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

– โรงพยาบาลดอนตูม​นครปฐม

– ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

– โรงพยาบาลโรคทรวงอก

– โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

-โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี

– โรงพยาบาลน่าน

– โรงพยาบาลสันทราย​ เชียงใหม่

– โรงพยาบาลพระปกเกล้า

– โรงพยาบาลชุมแพ

– โรงพยาบาลสนามภูเก็ต

– โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า