หอการค้าไทย-จีน มอบถุงยังชีพ 5,000 ชุด ให้แก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมใน กทม.

0
990

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และคณะกรรมการบริหาร ส่งมอบถุงยังชีพ 5,000 ถุง มูลค่าประมาณ 1.75 ล้านบาทให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ใน กทม. สำหรับกิจกรรมสาธารณกุศล เป็นบทบาทหนึ่งของหอการค้าไทย-จีน ที่สืบทอดเจตนารมณ์นี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหอการค้าไทย-จีน เป็นเวลา 112 ปี

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าไทย-จีน ยินดีที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมของ กทม. เพื่อร่วมกันสร้าง กทม. ให้เป็นเมืองทันสมัย มีความปลอดภัย น่าอยู่อาศัย แต่ยังคงรักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะทำให้ กทม. เป็นเมืองที่มีเสน่ห์สำหรับชาว กทม.และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ในการนี้ ท่านผู้ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธ์ กล่าวขอบคุณหอการค้าไทย-จีน และยินดีให้การสนับสนุนการที่ หอการค้าไทย-จีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก (หรือ WCEC) สมัยที่ 16 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนทั่วโลก ทั้งจากประเทศไทย และประเทศต่างๆ กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม และกล่าวเสริมว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมจะเป็นเมืองศูนย์กลางการจัดงานต่าง ๆ ให้นานาชาติเข้ามาจัดการประชุมใน กทม. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ กทม. พร้อมแล้วที่จะแข่งขันกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน

สำหรับหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. นอกจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ยังต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเป็นหัวใจของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงาน การหารายได้ให้เมือง การนำภาษีมาบริหารจัดการเมือง และมีหน้าที่ในการบริหารประสิทธิภาพของเมืองให้ธุรกิจต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจาก กทม. เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องอำนวยความสะดวกจากทางราชการให้โปร่งใส รวดเร็ว ฉับไว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจ เช่น การประสานขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การประสานเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ โดยทางหอการค้าไทย-จีน มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการอยู่กว่าหมื่นคน ที่สามารถสร้างงานได้เป็นแสนตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเมืองได้อีกจำนวนมากอีกด้วย

นอกจากนี้ ท่านผู้ว่าชัชชาติ เปิดเผยว่า ในอนาคตได้ตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค เช่น การจัดประชุมนานาชาติ เพื่อนำการประชุมจากทั่วโลกให้มาจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเรามีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ พื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตร มีหอประชุมที่เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีใกล้กับกรุงเทพฯ มีโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการประชุมกว่า 100,000 ห้อง รวมถึงมี Office Space อีกกว่า 10 ล้านตร.ม. พร้อมรองรับการจัดประชุมในธุรกิจไมซ์ (MICE) ซึ่งมีความสำคัญในการกระตุ้นและดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในกรุงเทพฯ อาทิ ธุรกิจ Jewelry ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจ Creative Economy โดยให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางธุรกิจได้ จึงเป็นที่มาของการหารือกับหอการค้าไทย-จีน ในวันนี้ ซึ่งจะมีการหารือในกลุ่มย่อยเพื่อลงรายละเอียดความร่วมมือด้านต่าง ๆ ต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2565 หอการค้าไทย-จีน ได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าอุปโภคบริโภค ไปยัง กทม. เช่น ข้าวสาร (ถุงละ 5 กก. จำนวน 5,000 ถุง) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (100,000 ซอง) ปลากระป๋อง (20,000 กระป๋อง) และน้ำพริกเผา (5,004 กระป่อง) พร้อมถุงยังชีพ 5,000 ใบ สำหรับบรรจุสิ่งของบริจาค เพื่อ กทม. จะนำไปแจกจ่ายบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานคร ต่อไป