หอการค้าไทย-จีน ประเมินผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส3/64 

0
2232

หอการค้าไทย-จีน ประเมินผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส3/64 จากกลุ่มสมาคมกว่า 60 องค์กร ระบุร้อยละ 70  การค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับจีนทั้งนำเข้าและส่งออก และการลงทุนจากจีนมาประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ95 ชี้รัฐต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกอบการ สร้างเชื่อมั่นการค้า การลงทุนไทย-จีน

นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน  เปิดเผยว่า  หอการค้าไทย-จีน และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาส 3/2564 ด้วยการสำรวจความเห็นในรูปแบบออนไลน์ไปยังคณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน เครือข่ายสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน และสมาคมธุรกิจต่างๆ กว่า 60 สมาคม ตลอดจนกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเล โดยแบบสอบถามประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ประเด็นเฉพาะกิจ หรือเหตุการณ์  2) ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีน  3) ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย  และ 4) ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน ระหว่างวันที่ 17-22 มิถุนายน  2564 พบว่า

ปัญหาหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 และได้มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธ์ชนิดต่างๆ ประกอบกับยังมีความกังวลในเรื่องความเพียงพอของปริมาณวัคซีนและประสิทธิภาพ ได้กลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากกับทิศทางและการก้าวเดินของระบบเศรษฐกิจไทย โดยผู้ตอบคำถามมากถึง 97% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับฟื้นขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ 70% ของประชากรโดยเร็วที่สุด

อีกทั้งมาตรการที่ต้องทำทันที คือ การคุมเข้มการระบาดในชุมชน และคุมเข้มการลักลอบข้ามแดนของแรงงานต่างชาติ เมื่อได้สอบถามถึงความประสงค์ในการฉีดวัคซีนพบว่ามากกว่าร้อยละ 95 ของกรรมการและสมาชิกหอการค้าไทยจีนและสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนทันที

ข้อเสนอแนะต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในอีก 2 เดือนข้างหน้า มีมาตรการหลักประกอบด้วย การลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล อาทิ เลื่อนการจ่ายภาษี และลดอัตราภาษีชั่วคราว  การปล่อยเงินกู้ให้ครอบคลุมกับผู้ประกอบการมากที่สุด ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน และเสนอให้รัฐบาลจัดเงินทุนสนับสนุนเพื่อการจ้างงานโดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แรงงานจะไม่ตกงานและธุรกิจยังพอเดินหน้าต่อไปได้

จากการสอบถามความคิดเห็นของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีน ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ตอบคำถาม คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น ขณะที่การค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับจีนทั้งนำเข้าและส่งออก และการลงทุนจากจีนมาประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ความมั่นใจยังไม่สูงเท่าการสำรวจในไตรมาสก่อนหน้านี้

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส4/64  ผู้ตอบคำถาม 1 ใน 3 คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ขณะที่ประมาณร้อยละ 40 คาดว่าจะชะลอตัวลง ทั้งนี้ภาคเศรษฐกิจที่น่ากังวล คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่วนภาคธุรกิจที่จะขับเคลื่อน และพยุงเศรษฐกิจไทยไปได้ ประกอบด้วยธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ พืชผลการเกษตร และธุรกิจบริการสุขภาพ ส่วนแนวโน้มของดัชนีตลาดหลักทรัพย์พบว่าไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นคงเดิมหรือว่าลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐอเมริกายังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนค่าลงในไตรมาสหน้า