หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ริเริ่มดำเนิน “โครงการสถานชีวาภิบาล เวฬุวันคิลานุปัฏฐาก” เพื่อรองรับพระสงฆ์อาพาธระยะสุดท้าย และ “โครงการศูนย์ฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก” เพื่อสร้างพระอุปัฏฐากที่มีความรู้ในการดูแลพระเถระ และพระสงฆ์อาพาธให้ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ติดกับบริเวณวัดเวฬุวัน

โดยโรงพยาบาลทองผาภูมิจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิ มีการประเมินสภาวะอาการป่วยแรกรับ การคัดกรองเบื้องต้น การวางแผนการรักษา และการประคับประคอง ซึ่งจะมีอาสาสมัครพระบริบาลภิกษุไข้ อาสาสมัครบริบาลผู้ป่วย และพระคิลานุปัฏฐาก ให้การดูแลอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด และถูกต้องตามพระธรรมวินัย

หลวงปู่สาคร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการสถานชีวาภิบาลเพื่อรองรับพระสงฆ์อาพาธระยะสุดท้าย และโครงการศูนย์ฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐากแห่งนี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อให้พระภิกษุ สามเณร นักบวช และผู้นำทางศาสนา ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลตามโครงการดูแลสุขภาพ พระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ของภาครัฐ รวมถึงเป็นสถานที่รองรับพระภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย พระภิกษุที่อยู่ในระยะฟื้นฟูร่างกาย พระภิกษุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมพระภิกษุผู้ดูแลพระเถระ พระภิกษุอาพาธ ให้มีคุณสมบัติเป็นพระภิกษุผู้พยาบาลไข้ ทั้ง 5 ประการตามพระธรรมวินัย และมีคุณสมบัติเป็นพระอุปัฏฐากพระเถระอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพแก่ พระภิกษุ สามเณร นักบวช และประชาชนด้วย
หลวงปู่สาคร ระบุว่า โครงการสถานชีวาภิบาลนี้ สร้างขึ้นบนพื้นที่ 45 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ส่วนอาคารกุฏิชีวาภิบาลจำนวน 5 หลัง และอาคารศูนย์ฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก 1 หลัง ใช้พื้นที่ 15 ไร่ และพื้นที่ 30 ไร่ จะรายล้อมด้วยบรรยากาศที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด ทั้งนี้อาคารกุฏิชีวาภิบาล จะประกอบด้วย ห้องปลอดเชื้อ ห้องความดันลบ ห้องพักแพทย์ ห้องพักพยาบาล ห้องเก็บยา และห้องเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่อาคารโครงการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก จะมีทั้งห้องประชุม ห้องถ่ายทอดสด และที่พักพระภิกษุสงฆ์ผู้เข้ารับการอบรม รองรับพระภิกษุสงฆ์ได้ประมาณ 200 รูป

นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ กล่าวว่า หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ ได้มีดำริในการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธ ซึ่งโครงการดังกล่าว ทุกส่วนราชการในพื้นที่อำเภอทองภาภูมิ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานศึกษา และภาคเอกชน ล้วนแต่มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งสิ้น โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล อิต่องรันครั้งที่ 1

ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทรัพยากรและระดมทุนสนับสนุนการสร้างสถานชีวาภิบาลแห่งนี้ ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการก่อสร้างมา 1 ปีแล้ว จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่มีจิตศรัทธาได้มามีส่วนร่วมด้วยกัน เพราะนอกจากจะได้มาร่วมทำบุญในสถานที่แห่งนี้แล้ว ยังสามารถท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิได้อีกด้วย มีทั้งการท่องเที่ยวท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ พุน้ำร้อน อุทยานแห่งชาติซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์หลายแห่ง อย่างเขาช้างเผือก ที่ต้องไม่พลาดกับการปีนเขาสัมผัสความสวยงาม รวมถึงอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ถ้ำเสาหิน ถ้ำนกนางแอ่นด้วย

ด้านแพทย์หญิงนวลจันทร์ เวชสุวรรณมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยสถานการณ์นี้ พระสงฆ์ก็ไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป เพียงแต่ประชาชนทั่วไปที่เจ็บป่วย ยังมีญาติพี่น้องดูแล แต่พระสงฆ์ต้องกลับมาอยู่ที่วัดด้วยพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ การที่โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วย เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องให้ผู้ป่วยกลับมาดูแลและกายภาพบำบัดที่บ้าน ดังนั้น การที่มีกุฏิชีวาภิบาลและมีพระคิลานุปัฏฐาก ก็จะทำให้พระสงฆ์สามารถดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่มีทีมงานจากโรงพยาบาลมาช่วยดูแลและวางแผนการรักษาร่วมกัน ดังนั้น หากกุฏิชีวาภิบาลแห่งนี้สร้างสำเร็จ และรองรับพระสงฆ์ที่อาพาธระยะสุดท้าย ก็จะเป็นโครงการที่ดีอย่างยิ่งที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุต่อไป

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิ ระบุว่า โครงการดังกล่าว มี 2 ส่วนที่หลวงปู่สาครดำเนินการ คือนอกจากการสร้างกุฏิชีวาภิบาลสำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธแล้ว ซึ่งหลวงปู่ได้สร้างสถานฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ที่จะเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ด้วยกันอีกด้วย สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐากมีหลายหลักสูตรด้วยกัน โดยปัจจุบันเพิ่มเป็น 140 ชั่วโมง แบ่งเป็น ภาคทฤษฎี อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งพระสงฆ์ที่อบรมต้องมารับฟังภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติโดยได้รับการดูแลจากครูพี่เลี้ยงหรือวิทยากร หลังจากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์เป็นฝึกภาคปฏิบัติจริงที่โรงพยาบาลใกล้เคียง
สำหรับเป้าหมายของการฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก คือ 1 วัด มีพระคิลานุปัฏฐาก 1 รูป เพราะเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ว่า วัดใดจะมีพระอาพาธ แต่ก็ยอมรับว่า อาจเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงเกินไป ดังนั้น อย่างน้อยทุกๆ อำเภอ ควรจะมี “พระคิลานุปัฏฐาก” จำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังควรมี “กุฏิชีวาภบาล” ที่รองรับพระสงฆ์อาพาธได้ ซึ่งวัดเวฬุวัน ก็เป็นหนึ่งในจุดสำคัญสำหรับเขตพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิ ยอมรับว่า ด้วยข้อจำกัดตามหลักพระธรรมวินัย ทำให้มีปัญหาต่อการรักษาพระสงฆ์ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ก็อาจไม่มีความรู้ในเรื่องการรักษาตามพระธรรมวินัย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่แต่ละโรงพยาบาลจะต้องศึกษาแนวทางในการดูแลพระสงฆ์ให้เป็นไปตามแนวทางพระธรรมวินัย และนี่เองที่ทำให้ “พระคิลานุปัฏฐาก” แตกต่างจากการผู้ดูแลทั่วไป หลักสูตรอบรมพระคิลานุปัฏฐาก นอกจากเรื่องการดูแลสุขภาพแล้ว ก็ต้องอาศัยความรู้จากพระสงฆ์ เพื่อการดูแลให้ถูกหลักพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน
“พระคิลานุปัฏฐาก มีบทบาทหลายอย่าง เปรียบเสมือนเป็น อสม.ของวัด เป็น อสม.พระ ที่ดูแลส่งเสริมป้องกัน นอกจากนี้ ยังสามารถคัดกรองอาการเบื้องต้นได้ว่า ต้องพาพระสงฆ์อาพาธไปโรงพยาบาลทันทีหรือไม่ รวมถึงสามารถดูแลพระสงฆ์อาพาธหลังจากรักษาที่โรงพยาบาลได้อีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นการดูแลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดการเดินทางเข้าโรงพยาบาลที่ทำให้เกิดความลำบาก นับเป็นการลดภาระทั้งพระสงฆ์และโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน พระคิลานุปัฏฐาก ยังสามารถเป็นผู้ประสานงานในโรงพยาบาล และวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยได้อีกด้วย” แพทย์หญิงนวลจันทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารกุฏิชีวาภิบาล และศูนย์ฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ผู้ที่สนใจสามารถร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาทองผาภูมิ ชื่อบัญชี ‘วัดเวฬุวัน’ เลขที่บัญชี 718-0-31707-1