ส่องโครงการต้นแบบ มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนตรวจรอยโรคก่อนมะเร็งและโรคมะเร็งช่องปากด้วยตนเองตามแนวทาง “ตรวจเร็ว พบไว ส่งต่อได้ รักษาทัน”

0
1582

“ที่ผ่านมาการตรวจสุขภาพช่องปากมักจะตรวจเพียงแค่ฟันและเหงือก แต่อันที่จริงแล้วยังมีรอยโรคในส่วนของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก (Oral Soft Tissue) ซึ่งบางรอยโรคก็จัดอยู่ในกลุ่มรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก บางรอยโรคก็อาจจะเป็นโรคที่เราไม่อยากให้เกิดไปแล้ว นั่นคือ โรคมะเร็งช่องปาก และจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มะเร็งในช่องปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อย 1 ใน 10 อันดับต้นๆ โดยในเพศชายพบได้เป็นอันดับที่ 6 ส่วนในเพศหญิงพบได้เป็นอันดับที่ 10” ทพญ.นิรมล ลีลาอดิศร หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึง ความสำคัญของการตรวจรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากและสถิติของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก 

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการ “ชุมชนตื่นรู้คัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก:ร้อยเอ็ดโมเดล” โดย “ทพญ.นิรมล ลีลาอดิศร หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลร้อยเอ็ด และคณะ” ที่เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองรอยโรคในช่องปาก  และมองว่าทันตแพทย์ ไม่ได้เป็นเพียงบุคลากรที่ทำหน้าที่แค่การรักษาเท่านั้น แต่ทำได้มากกว่าในด้านของการส่งเสริมและป้องกันการเกิดโรค  จากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่ได้พบเจอกับคนไข้จำนวนมากพบว่า ส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาโรคมะเร็งช่องปากจะเป็นในระยะที่ลุกลามแล้ว ดังนั้นหากสามารถตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งระยะเริ่มต้น จะทำให้รักษาได้ทันท่วงที กำจัดโรคได้เร็ว และลดอัตราการเกิดความพิการและอัตราการเสียชีวิตได้

โครงการฯ มุ่งส่งเสริมให้ความรู้ผ่านเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ให้สามารถตรวจคัดกรองรอยโรคในช่องปากได้ด้วยตนเอง เพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอด ด้วยการลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้ประชาชนในชุมชนสามารถตรวจรอยโรคในช่องปากได้ด้วยตนเอง  ซึ่งหากสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็งช่องปาก แนวทางการรักษาคนไข้บางรายก็สามารถรับการผ่าตัดไม่ต้องไปรับเคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษา คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็จะดีขึ้น โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวทางของแผนนั่นคือ “ตรวจเร็ว พบไว ส่งต่อได้ รักษาทัน” 

สำหรับแนวทางการคัดกรองนั้น จะเริ่มต้นจากประชาชนเป็นผู้ตรวจช่องปากตนเองก่อน โดยหากพบรอยโรคในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น รอยขาว รอยแดง แผลเรื้อรัง ก้อนบวม สามารถแจ้งไปที่ อสม. และทาง อสม. จะทำหน้าที่ประสานไปยังทันตาภิบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โดยทันตาภิบาลจะเป็นผู้ตรวจและยืนยันรอยโรค พร้อมกับคัดแยกรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากและรอยโรคมะเร็งช่องปาก กับรอยโรคอื่นที่ไม่ร้ายแรง และประสานไปยังทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดร้อยเอ็ด  เพื่อตรวจและรักษาตามขั้นตอนต่อไป

“รอยโรคต่าง ๆ ที่ตรวจพบในเบื้องต้นนั้น  คนไข้อาจจะรู้สึกเจ็บ แสบ ชา หรืออาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย  หากพบรอยแผลเราต้องตรวจก่อนว่าเป็นแผลที่มาจากปัจจัยระคายเคือง ได้แก่ มีขอบฟันคม มีฟันแตก ใส่ฟันเทียมที่ไม่พอดี หลวมไป คับไป หรือไม่  ซึ่งในเบื้องต้นทันตแพทย์อาจถอนฟัน กรอฟันเพื่อลบคมฟัน หรือให้คนไข้งดใส่ฟันเทียมเพื่อติดตามดูรอยโรค หากภายใน 2 สัปดาห์รอยโรคยังไม่ดีขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปส่องกล้องตรวจ เพื่อให้ทราบว่าเป็นรอยโรคอะไรและมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากหรือไม่ และการรักษารอยโรคก่อนมะเร็งหรือรอยโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ได้ลุกลามในผู้ป่วยบางราย สามารถผ่าตัดรอยโรคออกและคนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและตรวจติดตามอาการทุก 3-6 เดือน” ทพญ.นิรมล ลีลาอดิศร กล่าว

ทั้งนี้ สามารถแบ่งรอยโรคออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.รอยโรคที่ไม่ร้ายแรง รักษาติดตามอาการตามปกติ  2.รอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปาก รักษาโดยใช้ยา หรือผ่าตัด และมีการติดตามต่อเนื่อง และ 3.รอยโรคมะเร็งช่องปาก  ส่งต่อไปรักษามะเร็งตามขั้นตอน และมีการติดตามระหว่างและหลังการรักษา

“ในบริบทของการเป็นโรงพยาบาลศูนย์ งานส่งเสริมป้องกันเป็นงานที่ท้าทาย แต่จากการลงพื้นที่เราได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในพื้นที่และคนในชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้โครงการเกิดขึ้นและดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดความคิดว่าโครงการนี้น่าจะขยายผลให้เกิดการปฏิบัติในวงกว้างขึ้นได้ จึงอยากสร้างแรงจูงใจให้พื้นที่อื่นๆ เห็นว่า สิ่งที่คิดว่ายาก เราสามารถทำให้มันเป็นไปได้” ทพญ.นิรมล ลีลาอดิศร กล่าว 

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์กับประชาชน ภายใต้การทำงานเป็นทีมเวิร์คของทันตแพทย์และทันตาภิบาลผู้ดูแลโครงการ โดยมีอสม. และประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี   ทำให้โครงการนี้ได้รับรางวัลไลอ้อนเพื่อสุขภาพช่องปากประจำปี 2564 (Lion Oral Health Award 2021) ซึ่งจัดโดยชมรมทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในงานประชุมวิชาการสำนักทันตสาธารณสุจ กรมอนามัย    ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรที่มีผลงานสนับสนุนและส่งเสริมงานทันตกรรมป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การสร้างสุขภาพช่องปากที่ดีให้กับประชาชน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี