ส่องเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเมืองชวา… หาโอกาสการลงทุน

0
1138

 Key Summary

ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ  โดย SCB CIO เชื่อว่าการกระจายการลงทุนไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนของ portfolio ได้  บทวิเคราะห์นี้ SCB CIO อยากชวนทุกคนมารู้จักเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากขึ้นผ่าน 5 คำถามสำคัญ ได้แก่

  • โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอย่างไร และ แตกต่างกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ในเอเชีย-แปซิฟิกและอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งป็นเเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ (Domestic demand-led growth) ต่างจากไทยและเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการที่มากกว่าอินโดนีเซีย  โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซียมาจากขนาดประชากรที่ใหญ่และกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโต นอกจากนั้น ยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรงต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคน เช่น อุตสาหกรรม EV

  • วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไร?

การส่งออกกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และแร่ธาตุนิกเกิล เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ที่ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านการส่งออกและการลงทุนในประเทศต่อเนื่องมายังรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนแต่ในระยะหลังนี้ปัจจัยนี้มีผลต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียน้อยลงเนื่องจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการลงทุนของธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น จากที่เคยเน้นไปแค่อุตสาหกรรมการทำเหมือง

  • ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นโยบายการเงินตึงตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินอินโดนีเซียในระยะสามปีข้างหน้าอย่างไร?

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของอินโดนีเซียโดยรวมในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แนวโน้มในระยะ 3 ปีข้างหน้าก็ยังไม่น่ากังวล หากพิจารณาจาก 1) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในปีนี้และ 3 ปีข้างหน้าการขาดดุลอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 2% ของ GDP 2) หนี้ของภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำเป็น Buffer สำคัญที่จะช่วยรับมือในช่วงที่เกิดวิกฤต 3) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าเงิน IDR ก็ไม่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่ารุนแรงเหมือนในอดีต 4) แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากประเทศชั้นนำกดดันต่อตลาดเงินอินโดนีเซียไม่มาก ผลจากต่างชาติถือครองพันธบัตรอินโดนีเซียในสัดส่วนต่ำ 5) เงินเฟ้อสูงยังไม่กดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล

  • โครงสร้างตลาดทุนของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? แตกต่างกับตลาดหุ้นไทยและเวียดนามอย่างไร?

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีหุ้นกลุ่มการเงินเป็นกลุ่มที่มี market capitalization ใหญ่ที่สุด รองลงมามีการกระจายตัวอยู่ในกลุ่ม Consumer discretionary กลุ่มสื่อสาร กลุ่ม Material และ Consumer staples นอกจากนี้ มูลค่าตลาดยังกระจุกตัวอยู่ในหุ้น 10 บริษัทแรกซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 50% ของมูลค่าตลาด คล้ายคลึงกับตลาดหุ้นเวียดนาม ขณะที่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างกระจายตัวในหลาย sectors มากกว่า

  • มูลค่าของตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? หุ้นกลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ?

โดยรวม SCB CIO มีมุมมองเป็น Slightly positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มูลค่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจ เนื่องจาก Forward P/E ที่ 15 เท่า สำหรับ JCI และ 14 เท่า สำหรับ MSCI-Indonesia ยังเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี (-0.9 และ -1.4 SD ตามลำดับ) ขณะที่ Earning ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี (เฉลี่ย 12-13% ในปี 2022-23) โดยเฉพาะกลุ่ม Large และ Mid Cap และหากเปรียบเทียบกับไทยและเวียดนาม อินโดนีเซียก็ยังคงน่าสนใจ ในแง่ของความผันผวนที่ต่ำกว่า ผลตอบแทนโดยรวมที่ดีกว่า และ Earning ใน 1-2 ปี ที่ยังเติบโตได้ดี ในส่วนของ Sectors ที่น่าสนใจสำหรับลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสุขภาพ และกลุ่ม Consumer discretionary ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางและการขยายตัวของธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจ Platfrom และ 2) กลุ่มพลังงานและกลุ่ม Material ที่ได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ในระยะสั้นผลบวกเริ่มมีข้อจำกัดจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังเข้าสู่ระดับสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง การลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในกลุ่ม Material

บทวิเคราะห์เจาะลึก…. ส่องเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอินโดนีเซีย    

ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศชั้นนำ รวมถึงเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ยังมีเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย ที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวและเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีช่องว่างให้พัฒนาและขยายการลงทุนได้ สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากตลาดเวียดนามที่นักลงทุนไทยคุ้นเคยแล้ว ตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่ขนาดตลาดที่ใหญ่และทรัพยากรที่มีมาก

บทวิเคราะห์นี้ SCB CIO อยากชวนทุกคนมารู้จักตลาดอินโดนีเซียมากขึ้นผ่าน 5 คำถามสำคัญ ได้แก่ (i) โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอย่างไร แตกต่างกับเศรษฐกิจไทยและเวียดนามอย่างไร (ii) วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไร (iii) ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นโยบายการเงินตึงตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินอินโดนีเซียในระยะสามปีข้างหน้าอย่างไร  (iv) โครงสร้างตลาดทุนของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร แตกต่างกับตลาดหุ้นไทยและเวียดนามอย่างไร และ (v) มูลค่าของตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นอย่างไร หุ้นกลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ

โครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? แตกต่างกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

เศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และใหญ่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างดีต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงฟื้นตัวได้ดีจากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 (ในปี 2015-2019 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี ก่อนที่จะหดตัวในปี 2020 อยู่ที่ -2.1% และฟื้นตัวในปีถัดมาที่ 3.7% โดยล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2022 ขยายตัว 5% YOY)

โครงสร้างเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ (Domestic demand-led growth) ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและเวียดนามที่พึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าและบริการในสัดส่วนที่มากกว่าอินโดนีเซีย (รูปที่ 1) หากพิจารณาจาก 1) สัดส่วนของการบริโภคของเอกชนและการลงทุนรวมในประเทศเฉลี่ยในช่วงปี 2012-2021 ของอินโดนีเซียที่สูงถึง 91% ต่อมูลค่า GDP เทียบกับภาคส่งออกที่มีเพียง 21% ขณะที่ประเทศไทยและเวียดนามมีสัดส่วนภาคส่งออกสูงถึง 64% และ 95% ตามลำดับ และ 2) การใช้จ่ายในประเทศเป็นภาคเศรษฐกิจหลักขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในอินโดนีเซีย (Contribution to GDP growth) กล่าวคือ GDP ในช่วงปี 2012-2019 (ไม่นับในปี 2020-2021 ที่เศรษฐกิจในประเทศเผชิญวิกฤต COVID-19) ที่ขยายตัวเฉลี่ย 5.2% ต่อปี มาจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในประเทศสูงถึง 4.7% 

รูปที่ 1: อินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ แตกต่างจากไทยและเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ

ที่มา: ADB, CEIC และ SCB CIO

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การใช้จ่ายในประเทศของอินโดนีเซียเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญและขยายตัวโดดเด่นเมื่อเทียบกับภาคการส่งออก ได้แก่ 1) ขนาดประชากรที่ใหญ่ อายุเฉลี่ยต่ำ และรายได้เติบโตดี            2) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนมาก และ 3) ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ค่อนข้างมาก สำหรับปัจจัยด้านประชากร อินโดนีเซียเป็นตลาดการบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ASEANs (รูปที่ 2)  ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึงเกือบ 300 ล้านคน และอยู่ในวัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัวและมีความต้องการในการจับจ่าย    ใช้สอยสูง ด้วยอายุเฉลี่ย(ค่ามัธยฐาน) ที่ 30 ปี แตกต่างจากประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (อายุเฉลี่ย      (ค่ามัธยฐาน) 40 ปี) ที่มักมีพฤติกรรมเริ่มเน้นการออมมากขึ้นและบริโภคน้อยลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของรายได้

ขณะที่คุณภาพของประชากรอินโดนีเซียก็อยู่ในแนวโน้มที่ดี (รูปที่ 2) สะท้อนจาก 1) จำนวนประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่สัดส่วนเกือบ 60% ของประชากรทั้งประเทศ และมากกว่าไทยและเวียดนามที่มีสัดส่วน 52% และ 38% และ 2) รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงอยู่ที่ $13,099/ปี สูงกว่าเวียดนามที่ $11,534/ปี และแม้ว่าจะต่ำกว่าประเทศไทย แต่แนวโน้มการขยายตัวในอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศไทย (คาดการณ์โดย IMF)

รูปที่ 2: อินโดนีเซียเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตดี เมื่อเทียบกับไทยและเวียดนาม

ที่มา: IMF, UN, World Bank, CEIC และ SCB CIO

นอกจากนี้ การบริโภคของครัวเรือนในอินโดนีเซียยังได้ปัจจัยเร่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจ Digital โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อและการใช้จ่ายผ่าน e-wallet โดยในปี 2017-2019 ปริมาณธุรกรรม e-money เพิ่มขึ้นเกือบ 12 เท่าสู่ระดับ 145    tn IDR ขณะที่เงินกู้สะสมในรูปแบบ P2P เพิ่มขึ้น 37 เท่า

สำหรับปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตทรัพยากรด้านพลังงานและโลหะภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยอินโดนีเซียสามารถผลิตถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ นิกเกิลและทองแดงสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่ม ASEAN โดยโลหะภัณฑ์ นิกเกิลและทองแดง มีความสำคัญต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแบตเตอรี่รถยนต์ EV ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของโลก ขณะที่ไทยและเวียดนามแทบไม่มีการผลิตโลหะภัณฑ์ดังกล่าวเลย 

รูปที่ 3: อินโดนีเซียเป็นแหล่งลงทุนทางตรงที่น่าสนใจสำหรับต่างชาติ

ที่มา: IMF, UN, CEIC และ SCB CIO

สำหรับปัจจัยด้านการลงทุนทางตรงของต่างชาติ (FDI) ผลจากตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และทรัพยากรธรรมชาติที่มากของอินโดนีเซีย ท่ามกลางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่มาก ทำให้อินโดนีเซียเป็น          แหล่งลงทุน FDI ที่น่าสนใจสำหรับบริษัทข้ามชาติและนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุน FDI สุทธิสะสมและ  อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของอินโดนีเซียที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงไทยและเวียดนาม 

รูปที่ 4: อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตนิกเกิลรายใหญ่ของโลกด้วยส่วนแบ่งตลาดเกือบ 40% ในปี 2021

ที่มา: USGS, CAN, และ SCB CIO

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของ FDI ในระยะข้างหน้าของอินโดนีเซียยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ EV (หนึ่งในกระแสการลงทุน ESG) ซึ่งนิกเกิลเป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตนิกเกิลรายใหญ่ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่สูงถึงเกือบ 40% ในปี 2021  ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่สนใจของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ EV ให้เข้ามาลงทุน เช่น โครงการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในอินโดนีเซียของกลุ่มทุนเกาหลี Hyundai-LG และ JV: Indonesia Battery Corp (IBC)-LG group ซึ่ง JV มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ราว US$9.8bn และโครงการลงทุนของ Contemporary Amperex Technology (CATL) จากจีนที่มีเม็ดเงิน US$5bn เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม เป็นต้น

วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไร?

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมาของอินโดนีเซีย ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งกลุ่มพลังงานและกลุ่มวัตถุดิบสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน หากพิจารณาจากรูปที่ 5 จะพบว่าในช่วงที่ราคาสินค้าพลังงานและโลหะภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลบวกในอีกประมาณ 1 ปีถัดมาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการส่งออกและการลงทุนในประเทศ ต่อเนื่องมายังรายได้และการจ้างงานของครัวเรือน นำมาสู่การบริโภคภาคเอกชนให้ดีขึ้น รวมไปถึงคุณภาพสินเชื่อก็ปรับตัวดีขึ้นตามมาในท้ายที่สุด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นและค่าเงินก็ได้อานิสงส์ด้านบวกด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อราคาสินค้าพลังงานและโลหะภัณฑ์ลดลง จะส่งผลให้ภาคส่งออกของอินโดนีเซียหดตัวลงตาม และการลงทุนชะลอตัวลงมาก 

ตัวอย่าง เช่นในช่วงปี 2011-1H2013 ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูง การลงทุนในประเทศขยายตัวสูงถึง 8-9% เทียบกับช่วงปี 2015-1H2017 ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ การลงทุนขยายตัวเพียงประมาณ 4-5% 

อย่างไรก็ตาม การบริโภคของเอกชนกลับขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับภาคส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางและการขยายตัวของภาคธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการที่ปัจจุบันมีน้ำหนักใน GDP สูงถึงเกือบ 50% มากกว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 40% (เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่ภาคบริการมีสัดส่วน 40% น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ 45%)

รูปที่ 5: การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกเทียบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงินของอินโดนีเซียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ที่มา: CEIC, Bloomberg และ SCB CIO

ดังนั้น ในระยะหลังนี้ วัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพลังงาน แต่ผลกระทบรุนแรงน้อยลงจากอดีต เนื่องจากได้ปัจจัยบวกจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่รุนแรงและยาวนาน นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนที่เกาะกระแส ESG เช่น รถยนต์ EV ที่แนวโน้มอุปสงค์เติบโตต่อเนื่อง ก็อาจช่วยลดทอนผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาพลังงานลงมาได้บ้าง

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ นโยบายการเงินตึงตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินอินโดนีเซียในระยะสามปีข้างหน้าอย่างไร?  

ในภาวะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อสูง แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลง แต่ดูเหมือนว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของอินโดนีเซียโดยรวมในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แนวโน้มในระยะ 3 ปีข้างหน้าก็ยังไม่น่ากังวล หากพิจารณาจาก 1) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ในปี 2022 เกินดุล 4.5% ของ GDP  ในระยะ 3 ปีข้างหน้าการขาดดุลอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 2% ของ GDP  (คาดการณ์โดย IMF) ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับต่ำๆ ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีความต้องการลงทุนสูง เนื่องจากสะท้อนถึงสัดส่วนการลงทุนที่มีมากกว่าการออม บ่งชี้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่ดุลการคลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากในอดีต (คาดการณ์โดย IMF)

2) ภาระหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ถือว่าเป็น Buffer สำคัญที่จะช่วยรับมือในช่วงที่เกิดวิกฤต

รูปที่ 6: เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของอินโดนีเซียโดยรวมในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี

ที่มา: IMF projection, CEIC, Bloomberg และ SCB CIO

3) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ รวมถึงเทียบกับมูลค่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ค่าเงิน IDR ก็ไม่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่ารุนแรงเหมือนในอดีต และล่าสุดที่ค่าเงินของหลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของ USD จะพบว่า IDR อ่อนค่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ JPY, KRW, INR และ THB (Analyst consensus by Bloomberg มีมุมมองต่อค่าเงิน IDR เทียบ USD จะทยอยกลับมาแข็งค่าหลังจาก BI ปรับขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลให้ IDR/USD สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 14,650 และสิ้นปี 2023-2024 อยู่ที่ 14,617 และ 14,500 ตามลำดับ จากปัจจุบันที่ IDR/USD อยู่ที่ 14,969 ในวันที่ 12 ก.ค. 2022 และเฉลี่ย YTD อยู่ที่ 14,478)

รูปที่ 7: ค่าเงิน IDR ไม่ได้ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าเหมือนในอดีต ตลาดเงินถูกดดันจากปัจจัยภายนอกไม่มากเท่าในอดีต

ที่มา: ADB, CEIC และ SCB CIO

4) แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากประเทศชั้นนำ กดดันต่อตลาดเงินอินโดนีเซียไม่มากเท่ากับในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากตลาดพันธบัตรของอินโดนีเซียมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งมาจากการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางอินโดนีเซียในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาด COVID-19 

5) ทิศทางของเงินเฟ้อสูงยังไม่กดดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรง แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. จะทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี แต่ธนาคารกลางฯ ให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมากกว่า ซึ่งเดือน มิ.ย. ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาด ผลจากการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลทำให้ราคาสินค้าไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก ขณะที่ความสามารถในการดูแลราคาสินค้าของรัฐบาลในระยะถัดไปยังคงมีอยู่ หากพิจารณาจากการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐที่ต่ำ แตกต่างจากในอดีตที่ความสามารถในการสนับสนุนของภาครัฐมีไม่มาก

ทั้งนี้ Analyst consensus by Bloomberg คาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังของปี 2022 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 3.50% จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.25-4.50% ในสิ้นปี 2022 (BI เหลือการประชุมนโยบายการเงินอีก 6 ครั้งในปีนี้) และ 4.75-5.00% ในสิ้นปี 2023 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.1-5.2% ในช่วงปี 2022-24 (IMF คาดว่า GDP ของอินโดนีเซียจะขยายตัวอยู่ในช่วง 5.0-6.0% ในปี 2022-24) 

โครงสร้างตลาดทุนของอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? แตกต่างกับตลาดหุ้นไทยและเวียดนามอย่างไร?

โครงสร้างตลาดหุ้นอินโดนีเซียในแง่ของ market capitalization มีหุ้นในกลุ่มธุรกิจการเงินเป็นกลุ่มหลัก รองลงมาจะกระจายตัวอยู่ในกลุ่ม Consumer discretionary กลุ่มสื่อสาร กลุ่ม Material และ Consumer staples นอกจากนี้ มูลค่าตลาดยังกระจุกตัวอยู่ในหุ้น 10 บริษัทแรก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ 50% ของมูลค่าตลาด คล้ายคลึงกับตลาดเวียดนาม โดยกลุ่มธุรกิจการเงินมีมูลค่าในตลาดหุ้นอินโดนีเซียถึง 1 ใน 3 เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นในเวียดนาม แม้ว่าในกลุ่มธุรกิจการเงินจะมีหุ้นอยู่ในกลุ่มกว่า 100 บริษัท แต่เกือบ 70% ของมูลค่าของกลุ่มมาจากธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ Bank Rakyat Indonesia, Bank Central Asia และ Bank Mandiri 

รูปที่ 8: ในแง่ market cap รายภาคธุรกิจของ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย นำโดยกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีมูลค่ามากกว่า  1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด  เช่นเดียวกับเวียดนาม ขณะที่ market cap รายภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างกระจายตัวมากกว่า

ที่มา: Bloomberg (as of 08/07/2022) และ SCB CIO

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดรองลงมาจะกระจายตัวอยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจที่มีน้ำหนักอยู่ในตลาดประมาณ 8-15% ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดย 3 ใน 5 กลุ่มเกี่ยวข้องกับการบริโภคและภาคบริการ ได้แก่ กลุ่ม Consumer discretionary (มีหุ้นอยู่ในกลุ่มกว่า 100 บริษัท แต่มูลค่าเกินครึ่งของกลุ่มมาจาก GoTo Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ platform เช่น GOJEK) กลุ่มสื่อสาร (มูลค่าเกินครึ่งของกลุ่มถูกครอบงำโดย Telkom ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น 50%) และ กลุ่ม Consumer staples (หุ้นตัวใหญ่ในกลุ่มนี้ คือ CP Indonesia, Alfamart, Indofood และ Uniliver Indonesia)

ส่วน 2 ใน 5 กลุ่มที่เหลือเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม Material (หุ้นในกลุ่มนี้ค่อนข้างกระจายตัว โดย Top 3 คือ Merdeka Copper Gold, Chandra Asri Petrochemical และ Barito Pacific ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมี) และกลุ่มพลังงาน (มูลค่ามากกว่า 60%ของกลุ่มถูกครอบงำโดย Top 3 ได้แก่ Bayan Resources ผู้ผลิต Coal, United Tractors จำหน่ายเครื่องจักรหนัก ทำเหมือง Coal และทอง และ Adaro Energy ทำเหมือง Coal)

มูลค่าของตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นอย่างไร? หุ้นกลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ?

โดยรวมเรามีมุมมองเป็น Slightly positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย มูลค่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจ หากพิจารณาจาก Forward P/E ที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยแนวโน้มของ Earning ในตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้น Large และ Mid cap ล่าสุด MSCI-Indonesia มี valuation ในด้าน Forward P/E อยู่ในระดับ 14x  โดยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก (-1.4 sd) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของกำไรในปี 2022-23 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 12% ต่อปีเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19   ซึ่งขยายตัวเพียง 7% ต่อปี

รูปที่ 9: เรามีมุมมอง Slightly positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย จาก valuation ที่ยังไม่แพง และการเติบโตของกำไรที่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้น Large และ Mid cap

ที่มา: Bloomberg (as of 08/07/2022) และ SCB CIO

หากเปรียบเทียบกับ Regional peer อย่างตลาดหุ้นไทยและเวียดนาม ตลาดอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจ       ในแง่ของความผันผวนที่ต่ำกว่า Peer และ Earning ที่เติบโตได้ดี แม้ว่าราคาหุ้นจะแพงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดเวียดนาม ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ปรับลดลงมากของหุ้นเวียดนาม 

รูปที่ 10: ตลาดอินโดนีเซียก็ยังมีความน่าสนใจในแง่ของความผันผวนที่ต่ำกว่าและผลตอบแทนโดยรวมที่ดีกว่า Regional peer

ที่มา: Bloomberg (as of 08/07/2022) และ SCB CIO

หากพิจารณาในแง่ Market cap, Return, EPS และ P/E รวมถึงปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนกลุ่ม Sector ต่างๆ จะพบว่า  กลุ่ม Sectors ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสุขภาพ และกลุ่ม Consumer discretionary ที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของการบริโภคของครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลาง และการขยายตัวของธุรกิจบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจใหม่อย่างธุรกิจ Platform และ 2) กลุ่มพลังงานและกลุ่ม Material ที่ได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ในระยะสั้นผลบวก   เริ่มมีข้อจำกัดจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังเข้าสู่ระดับสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง การลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในกลุ่ม Material 

รูปที่ 11: Sector comparisons in Jakarta Composite Index

ที่มา: Bloomberg (as of 08/07/2022) และ SCB CIO