ส่งออก มี.ค. ขยายตัว 4.2% แต่หากหักทองคำและการส่งกลับอาวุธ จะพลิกกลับมาหดตัวที่ -2.5% ในระยะต่อไป EIC คาดส่งออกหดตัวเพิ่มเติมจากผลกระทบ COVID-19

0
1808

21 เมษายน 2020

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2020 ขยายตัวที่ 4.2%YOY แต่เมื่อหักการส่งออกทองคำ และการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง มูลค่าการส่งออกจะพลิกกลับเป็นหดตัวที่ -2.5%YOY

สินค้าที่ขยายตัวได้ดีนอกจากทองคำและอาวุธ คือ รถจักรยานยนต์, คอมพิวเตอร์, เหล็ก และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, ข้าว, ยางพารา และมันสำปะหลัง

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศหยุดชะงัก (sudden stop) ประกอบกับปัญหาด้าน supply chain disruption
ที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประเทศที่มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะถัดไป EIC จึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกปี 2020 ที่ -12.9%

  • Key points

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2020 ขยายตัวที่ 4.2%YOY แต่เมื่อหักทองคำ และการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง) จะพลิกกลับเป็นหดตัว -2.5%YOY  ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 2020 การส่งออกขยายตัวที่ 0.9%YOY แต่หากไม่รวมผลของทองคำและการส่งกลับอาวุธ การส่งออกในไตรมาสแรกจะพลิกกลับมาหดตัวที่ -1.3%YOY

สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ, ยานพาหนะอื่น ๆ (ส่วนใหญ่คือการส่งกลับอาวุธ), คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญหลายประเภทยังคงหดตัว ได้แก่ รถยนต์, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ (รูปที่ 1)

  • การส่งออกทองขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 2%YOY จากการที่ราคาทองอยู่ในระดับสูง มีตลาดหลักคือ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี การส่งออกทองคำขยายตัวสูงถึง 221%YOY
  • สินค้ายานพาหนะอื่น ๆ ขยายตัวมากถึง 1,263.2%YOY โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินค้าอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ (29.5%), รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (22.6%YOY), คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (17.6%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (1%YOY)
  • อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของหลายสินค้าสำคัญยังคงมีการหดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ
    (-28.7%YOY) ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามตลาดรถยนต์ที่ซบเซา, เม็ดพลาสติก (-15.3%YOY), เคมีภัณฑ์ (-14.9%YOY), ข้าว (-13.3%YOY), ยางพารา (-24.7%YOY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
    (-13.1%YOY)

รูปที่ 1 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือนมีนาคม 2020

การส่งออกรายตลาดส่วนใหญ่มีการหดตัว ยกเว้นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศกลุ่มอาเซียน

  • การส่งออกไปจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ -4.8%YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวคือ ยางพารา, พลาสติก และเคมีภัณฑ์
  • การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวชะลอลงที่ -2.8%YOY หลังจากหดตัวสูงถึง -11.1%YOY ในเดือนก่อนหน้า
    โดยสินค้าที่หดตัวได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  • การส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปหดตัวสูงถึง -14.8%YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
  • อย่างไรก็ดี หลายตลาดสำคัญมีการขยายตัว โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวกับอาวุธขยายตัวถึง 19.5%YOY การส่งออกไปสหรัฐฯ โดยรวมขยายตัวถึง 42.9%YOY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งคืนยานพาหนะฯ และอาวุธซ้อมรบกลับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้หักรายการสินค้าดังกล่าวออก การส่งออกไปสหรัฐยังคงขยายตัว 5%YOY การขยายตัวมาจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และข้าว
  • การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ขยายตัว 8%YOY โดยสินค้าสำคัญขยายตัวคือ อากาศยานและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
  • การส่งออกไปตลาด CLMV ขยายตัวที่9%YOY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าพลิกกลับมาขยายตัวสูงที่ 7.3%YOY สินค้าสำคัญที่มีการกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้าได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (9.0%YOY) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวสูง
ที่ 10.0%YOY และ 16.8%YOY ตามลำดับ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวสูงที่ 12.0%YOY โดยส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าธัญพืชที่ขยายตัว 288.2%YOY และการนำเข้าเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัว 7.7%YOY อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -4.9%YOY และ -5.5%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้การนำเข้า
ในไตรมาสแรกของปีหดตัวที่ -1.9%YOY

  • Implication

EIC คงคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2020 ที่ -12.9% จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
ที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยล่าสุด ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2.4 ล้านคน และมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก (รูปที่ 2) จึงเป็นที่มาของมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อ
การหยุดชะงัก (sudden stop) ของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปี 2020 จึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักต่อการระบาด COVID-19 ซึ่งจากรายงานล่าสุดของ IMF WEO รอบเดือนเมษายน IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2020 จะหดตัวกว่า -3% (รูปที่ 3) ซึ่งถือเป็นอัตราหดตัวมากสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ Great Depression ในปี 1930-1939 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก (Global PMI: Export orders) พบว่าดัชนีลดลงอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 4) สะท้อนว่าการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น

รูปที่ 2 : การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก

รูปที่ 3 : IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2020 หดตัวมากถึง -3.0% ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression ในช่วงปี 1930-1939

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IMF WEO (ณ เมษายน 2020)

รูปที่ 4 : ข้อมูล Global PMI: Export orders บ่งชี้ว่าการส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มหดตัว

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ IHS Markit

นอกจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวแล้ว การส่งออกของไทยยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain disruption โดยจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในหลายประเทศ ทำให้ส่งผลต่อภาค
การผลิตและขนส่งสินค้า ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงกระทบต่อการค้าของโลก โดยจะกระทบต่อภาคส่งออกไทย
ใน 2 ประเด็น ได้แก่

1) ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางลดลง เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของหลายประเทศ โดยมาตรการควบคุมโรคของหลายประเทศมีแนวโน้มสร้างอุปสรรคต่อการผลิตสินค้าในประเทศดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดการหยุดชะงักของภาคการผลิตในประเทศต้นทาง ย่อมส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยที่ลดลง

2) ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มหยุดการผลิตบางส่วนจากมาตรการควบคุมโรค จึงทำให้บริษัทไทยที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศดังกล่าว ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากขาดวัตถุดิบ

ด้านราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการลดลงของมูลค่าส่งออกในปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยมีราคาต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบ Brent) นับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 1999 (รูปที่ 5) มีสาเหตุหลักจากการลดลงของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกตามภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงความกังวลด้านการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า
โดยล่าสุดมีข้อตกลงว่าจะมีการลดกำลังการผลิตบางส่วน อย่างไรก็ดี การลดกำลังการผลิตก็ไม่สามารถชดเชยผลจากการที่อุปสงค์หายไปได้ จึงทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท อาทิ เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์ และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มส่งออกน้ำมัน (oil-exporter) ที่จะมีรายได้จากน้ำมันลดลง ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน (oil-importer) ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง

รูปที่ 5 : ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุหลักจากอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่ลดลง
และอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ยังลดลงไม่มากพอ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC

ทั้งนี้จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปีนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยกว่าปกติ โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดมีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risks) จากสถานการณ์การระบาดที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์มีความเสี่ยงด้านสูง (upside risks) เช่นกัน จากการที่บางประเทศเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในส่วนของการแพร่ระบาด จึงอาจมีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งอาจทำให้มีอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของไทยกลับมาได้บางส่วนในระยะข้างหน้า โดย EIC จะทำการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/6779