สำนักงาน คปภ. เอาจริงกรณีฉ้อฉลประกันภัยส่งดำเนินคดี 49 คดีพร้อมเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ AI

0
251


นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกฎหมายฯ) เปิดเผยถึงการดำเนินการของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยว่า ตามที่พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และสำนักงาน คปภ. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง ให้บริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ยื่นรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยและรายงานพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ พฤติกรรม และลักษณะของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และสามารถกำหนดแนวทางในการยับยั้ง ป้องกัน ตรวจสอบ รายงาน และบรรเทาความเสียหายจากการฉ้อฉลประกันภัย ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
ในการบังคับใช้ประกาศ คปภ. ทั้ง 2 ฉบับ สำนักงาน คปภ. ได้มีการออกประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงาน พฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย สำหรับบริษัทประกันชีวิตและ/หรือประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดให้บริษัทประกันภัยนำส่งรายงานดังกล่าว
ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. ภายใน 30 วันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
สำหรับประเภทกรมธรรม์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการฉ้อฉลประกันภัยและมีพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยมากที่สุดคือ กรมธรรม์รถยนต์และเบ็ดเตล็ด ส่วนประเภทกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิตที่มีการฉ้อฉลประกันภัยและมีพฤติกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยมากที่สุดคือ กรมธรรม์ประกันชีวิต
รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายฯ กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคดีฉ้อฉลประกันภัย ในปี 2566 เพื่อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยในลักษณะต่าง ๆ ก่อนที่จะเสนอเลขาธิการพิจารณา เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ จำนวน 49 คดี โดยแบ่งเป็น 5 กรณีที่สำคัญ ๆ ดังนี้ 1. กรณีเก็บเบี้ยไม่นำส่งบริษัทประกันภัย จำนวน 6 คดี 2. กรณีคดีปลอมใบรับรองผลตรวจโควิด-19 จำนวน 21 คดี 3. กรณีจัดฉากชน (Bigbike) จำนวน 12 คดี 4. กรณีขายประกันภัยโดยไม่มีใบอนุญาต (โบรกเกอร์เถื่อน) จำนวน 3 คดี และ 5. กรณีหลอกขายประกันภัย จำนวน 7 คดี
ในขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยแบบคู่ขนานไปพร้อม ๆ กัน เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาระบบฐานข้อมูลรายงานการฉ้อฉลด้านการประกันภัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยพัฒนาจากระบบเดิม ซึ่งเป็นเพียงการที่ให้บริษัทรายงานข้อมูลพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัยเข้ามาเพียงอย่างเดียว มาเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยจัดให้มีการวางระบบในการจัดทำฐานข้อมูลการกระทำความผิดของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ออกระเบียบ/ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมของตัวแทนและนายหน้าประกันภัย เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการของบริษัทให้อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการจัดการเรื่องความรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน กรณีบริษัทประกันภัยได้พิจารณาตกลงรับ ตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย หรือมีประวัติอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เข้ามาเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในสังกัดของบริษัทประกันภัย