สำนักงาน คปภ. ยกระดับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง “พักใช้-เพิกถอน” ใบอนุญาต

0
136

นางสาวอายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายในการคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ผู้เอาประกันภัยต้องได้รับค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยจะต้องมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยต้องทำการคำนวณเงินสำรองประกันภัย


เพื่อคาดการณ์ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยที่จะต้องจ่ายผู้เอาประกันภัยในอนาคต การคำนวณเงินสำรองประกันภัยนั้นต้องใช้หลักการของคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งต้องอาศัยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นเงินสำรองประกันภัยยังเป็นส่วนหนึ่งในกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินของบริษัทประกันภัย


ดังนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานและดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามที่สำนักงาน คปภ. กำหนด และเพื่อให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทยปฏิบัติงาน โดยรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานและจรรยาบรรณในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้ออกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 220/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการสั่งพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการจากผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เพื่อดำเนินการพิจารณาและสอบสวนการกระทำของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อาจเป็นเหตุให้สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น ในกรณีที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีพฤติการณ์ในการคำนวณเงินสำรองประกันภัยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินสำรองประกันภัยของบริษัทเพื่อใช้ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จะช่วยรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่สูง และมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ต่อไป