สสส.เสิร์ฟหลักสูตรปั้นผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน หนุนเพิ่มกิจกรรมทางกาย ป้องกันโรคไม่ติดต่อ พร้อมรับประกาศนียบัตรจากราชวิทยาลัยฯ

0
1245

คนไทยกลุ่มวัยทำงานในปัจจุบันมีสูงถึง 38 ล้านคน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และอนาคตของประเทศ กำลังเผชิญต่อความเสี่ยงสำคัญต่อสถานการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) ต้นเหตุของการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเฉพาะจุด เบาหวานประเภท 2 โรคไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง สุขภาพจิต (อาการวิตกกังวลและหดหู่ที่ลดลง) และการนอนหลับ โดยความน่ากลัวพบว่าสถิติคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดราว 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน และพบว่ากลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มี โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งโรคภัยเหล่านี้นอกจากสร้างความเสี่ยงสุขภาพแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการลดทอนประสิทธิภาพการทำงาน ความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ และการดูแลครอบครัว

ดังนั้น การป้องกันปัจจัยความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ตั้งแต่ต้นทางในกลุ่มวัยทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกันเปิด “หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” โดยเปิดรับสมัครหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวน 25 องค์กร ผ่านอีเมล์ raipoon@gmail.com 

นางประภาศรี บุญวิเศษ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน ถูกพัฒนาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับประเทศ มีวางเป้าหมายสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. ผู้นำสุขภาพมีทักษะความรู้ในการมีกิจกรรมทางกายที่ถูกต้อง สามารถจัดการและขับเคลื่อนการมีกิจกรรมทางกายในองค์กร 2. ผู้เข้าอบรมมีทักษะที่จำเป็นของการมีกิจกรรมทางกาย และ 3. มีเจตคติที่ดีต่อการมีกิจกรรมทางกาย สามารถออกแบบกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับองค์กรได้ นกจากนั้นผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และให้คำปรึกษาต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับองค์กร  

“หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนวัยทำงานในองค์กร แต่ประเด็นสำคัญคือผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบาย โดยเนื้อหาหลักจะเน้นให้ความสำคัญต่อการปรับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ในสถานที่ทำงาน เพื่อรองกับการมีกิจกรรมทางกายที่เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมของพนักงานให้มีการขยับ การเดิน ลดการนั่งติดเก้าอี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งการแนะนำให้เพิ่มเมนูผักและผลไม้ในมื้ออาหารระหว่างวัน” นางประภาศรี กล่าว 

สสส. ผนึกภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกาย ลดเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs 25% ในปี 2568

สอดคล้องกับ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การเพิ่มกิจกรรมทางกาย จะเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ในกลุ่มวัยทำงาน โดยองค์กรอนามัยโลกแนะนำว่า บุคคลที่สุขภาพปกติในวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อย 150 -300 นาทีต่อสัปดาห์ ดังนั้นการอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงานจึงเป็นโครงการที่สนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี 

ทั้งนี้ สสส.มองปัญหาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ และเป็นภาระกิจสำคัญ โดยในปี 2562 คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องสูงถึง 427.4 คนต่อประชากร 100,000 คนดังนั้นสสส.จึงทำงานร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายโลก 9 ด้าน ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในข้อตกลงของสหประชาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs (การเสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี) ลดลงประมาณ 25% ภายในปี 2568 และมีอัตราลดลง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของไทย ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

เปิด 5 หลักสูตรผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน ชู คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี องค์กรต้นแบบ

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน กล่าวว่า ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้จะได้รับความรู้จาก 5 ชุดวิชา ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ได้แก่ รู้จัก NCDs การตรวจประเมินและการจัดการเชิงป้องกัน, การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย, การส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค, การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารสร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ และการออกแบบและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร ตามแนวคิด Design Thinking for Healthy Organization ซึ่งรูปแบบการอบรมจะเป็นการผสมผสานทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และการศึกษาด้วยตัวเอง เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะนำไปใช้ในองค์กรของตน ระยะเวลาการอบรม 60 ชั่วโมง  

“สสส.ต้องการสร้างผู้นำกิจกรรมทางกายในออฟฟิศ เพื่อนำไปขยายผลต่อ ไปยังกลุ่มเพื่อนพนักงานด้วยกันในเชิงเพื่อนชวนเพื่อน เมื่อคนในออฟฟิศเห็นตัวอย่างที่ดีก็จะเกิดแรงจูงใจหันมาปฏิบัติตามด้วย ดังนั้นเมื่อพนักงานสุขภาพกายดี สุขภาพใจดี ความเครียดลดลง บรรยากาศการทำงานก็จะมีความสุข หลักสูตรนี้จึงเหมาะกับองค์กรที่จะส่งมอบประโยชน์โดยตรงให้กับพนักงาน แสดงถึงนโยบายขององค์กรเน้นให้ความใส่ใจห่วงใย เป็นการสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะที่ดีภายในองค์กร และส่งต่อไปยังครอบครัวของพนักงาน” รศ.นพ.เพชร กล่าว

รศ.ดร.นพวรรณ เปียซื่อ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดี ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) ในโครงการ Happy Healthy RAMA ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. และเครือข่ายคนไทยไร้พุง เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากร นักศึกษาแพทย์และพยาบาล ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 13,000 คน และพบปัญหาสุขภาพสูงเทียบเท่าระดับประเทศ โดยสัดส่วน 1 ใน 3 มีภาวะโรคอ้วนลงพุง 1  ใน 2 เผชิญภาวะน้ำหนักเกิน 1 ใน 5 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือเป็นเบาหวานแล้ว ขณะที่ 2 ใน 3 พบปัญหาไขมันในเลือดสูง 

ทั้งนี้ตัวอย่างการเพิ่มกิจกรรมทางกายของโรงพยาบาลที่โดดเด่น ซึ่งเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ เช่น การอบรมผู้นำสุขภาพประจำแผนกซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 200 คน ซึ่งมีแผนขยายโครงการเพิ่มขึ้นอีก การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้ออำนวยในการมีกิจกรรมทางกาย เช่นการเดินระหว่างทำงาน การขึ้นลงบันได การจัดตั้งศูนย์กีฬา ศูนย์สัมพันธ์สร้างสุขภาพ การปลูกผักออแกนิกในโครงการฟาร์มสร้างสุข เพื่อนำมาปรุงอาหารแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลและบุคลากร  รวมทั้งเป็นรางวัลจูงใจให้แก่พนักงานที่บรรลุเป้าหมายสุขภาพระหว่างวัน การเป็นโรงพยาบาลลดเค็มและอ่อนหวานเต็มรูปแบบ ด้วยบรรจุเมนูสุขภาพทางเลือกอย่างน้อย 1 เมนูในร้านอาหารภายในโรงพยาบาล การรณรงค์ดื่มน้ำเปล่า และเลิกบุหรี่ พร้อมทั้งขยายโครงการไปยังชุมชนใกล้เคียงจำนวน 8 แห่งอีกด้วย 

“เราประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมบุคลากร นักศึกษาแพทย์และพยาบาล ให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มีโภชนาการด้านอาหารที่ดีขึ้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นต้นแบบของสุขภาพดี ห่างไกลโรค เมื่อเขาไปทำงานที่ใดก็จะนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ต่อไปสู่สังคม  ดังนั้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ด้านสุขภาพดีภายในองค์กรของเรา ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จระดับชาติ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เชื่อคำแนะนำของหมอ” รศ.ดร.นพวรรณ กล่าว